翔んで埼玉
FLY ME TO THE SAITAMA
武内英樹
Hideki Takeuchi
(2019)
ภาพยนตร์ดัดแปลงจาก การ์ตูนชื่อ 翔んで埼玉 (Tonde Saitama) ผลงานของ 魔夜峰央 (Mineo Maya) ตีพิมพ์ในช่วงปี 1982 – 1983
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พื้นที่ของโตเกียว, ไซตามะ และส่วนตะวันออกของคานางาวะ เป็นพื้นที่ของจังหวัดเดียวกันชื่อว่ามูซาชิ
ในปี 1871 ระบบศักดินาล่มสลาย ทำให้โตเกียวแยกตัวออกมาจากมูซาชิ แล้วโยโกฮาม่าก็ไปรวมกับซากามิ กลายเป็นคานางาวะในปัจจุบัน เหลือเพียงไซตามะซึ่งไม่มีพื้นที่ติดทะเลจึงไม่มีใครต้องการไปรวมด้วย
เวลาล่วงเลยผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน Ami Sugawara (島崎遥香/Haruka Shimazaki) ต้องเดินทางจากบ้านเกิดของเธอในไซตามะ พร้อมกับพ่อ (ブラザートム/Brother Tom) และแม่ (麻生久美子/Kumiko Aso) เพื่อไปงานหมั้น ซึ่งพ่อของเธอไม่พอใจที่ลูกสาวกับแฟนจะย้ายไปอยู่ในเมืองโตเกียวหลังจากงานแต่ง เนื่องจากคนโตเกียวชอบดูถูกคนไซตามะ
ระหว่างที่กำลังเดินทาง พวกเขาก็ได้ฟังรายการวิทยุ ตำนานของไซตามะ — ในอดีตกาลคนโตเกียวเหยียดหยามคนไซตามะว่าเป็นพวกชนบทชั้นต่ำ คนไซตามะที่จะเดินทางมาโตเกียวจะต้องผ่านด่านตรวจและมีใบอนุญาตสำหรับผ่านเข้าเมือง ซึ่งใบอนุญาตในตลาดมืดมีราคาสูงมาก แต่คนไซตามะก็ยังพยายามแอบลักลอบเข้าเมืองโตเกียว แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกตำรวจจับและถูกส่งออกไปนอกเมืองทันที ชาวไซตามะต้องการที่จะล้มล้างกฏที่ไร้มนุษยธรรมของโตเกียว ที่ปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเดินทางเข้าเมือง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากสวดอ้อนวอนพระเจ้าให้ส่ง The One ที่จะมาช่วยกอบกู้
Rei Asama (GACKT) หนุ่มนักเรียนนอกที่เพิ่งกลับมาจากอเมริกา กลายเป็นจุดสนใจของนักเรียนหญิงทั้งโรงเรียน ทำให้ Momomi (二階堂ふみ/Fumi Nikaido) ประธานนักเรียน ลูกของผู้ว่าการเมืองโตเกียว รู้สึกว่าอำนาจของเขากำลังสั่นคลอน
ในโรงเรียนก็ยังมีการแบ่งชนชั้นตามห้องต่างๆ Class A จะเป็นนักเรียนที่อาศัยอยู่ในอากาซากะและอาโอยามะ — Class B ถึง D มาจากชนชั้นสูงในชินจูกุและโยโกฮามะ — Class E มาจากทานาชิและฮาจิโอจิ
ส่วนชั้นต่ำสุด Class Z คือนักเรียนที่มาจากไซตามะ แต่มีพ่อแม่ทำงานอยู่ในโตเกียว นักเรียนห้องนี้ถูกห้ามไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ของโรงเรียน พวกเขาต้องนั่งเรียนอยู่ในเพิงเน่าๆ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากทางโรงเรียน ขนาดป่วยยังถูกประธานนักเรียนห้ามไม่ให้ไปห้องพยาบาล และยังโดนขับไสไล่ส่งให้ไปกินหญ้าแทน
ความจริงแล้ว Rei ถูกส่งไปชุบตัวที่อเมริกา เพื่อกลับมาดำเนินแผนการชิงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองโตเกียว โดยมีจุดหมายสูงสุดคือการล้มล้างระบบใบอนุญาตเดินทางและปลดปล่อยชาวไซตามะ
Momomi ยังคงหาทางที่จะเอาชนะ Rei เพื่อให้นักเรียนทุกคนเห็นว่าเขาเหนือกว่า ด้วยการทดสอบดมกลิ่นอากาศที่บรรจุไว้ในขวดและต้องระบุว่าเป็นอากาศที่เก็บมาจากเมืองอะไร แต่ Rei ก็สามารถผ่านบททดสอบได้อย่างสวยงาม
Momomi ตกหลุมรัก Rei แต่ตัวจริงของ Rei ถูกเปิดเผยทำให้เขาต้องหลบหนีเพื่อเอาตัวรอด ส่วน Momomi แม้ว่าจะตกใจกับตัวตนที่แท้จริงของ Rei แต่ด้วยความรักจึงตัดสินใจหนีตามไปด้วย
翔んで埼玉 เป็นภาพยนตร์ที่สนุกและตลกบ้าบอมาก ชอบการสร้างภาพเมืองโตเกียวที่อลังการทันสมัยสุด ราวกับเป็น The Capitol ใน The Hunger Games คือนอกเขตเมืองก็เป็นชนบทหลังเขาไปเลย
มุขที่ใส่เข้ามาก็เล่นใหญ่ตามสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่น อย่างเรื่องที่ไซตามะไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ชาวไซตามะต้องการทะเลมาก จนต้องขุดอุโมงค์เพื่อจะลอดผ่านใต้ดินไปถึงทะเล
ชอบตอนที่จังหวัดไซตามะยกพวกมาสู้กับจังหวัดชิบะ ด้วยการชูป้ายคนที่มีชื่อเสียงที่มาจากจังหวัดของตัวเอง กับเรื่องที่จังหวัดชิบะอยู่ติดกับโตเกียวแต่พยายามจะเป็นส่วนหนึ่งของโตเกียว เช่นมี Tokyo Disney Resort (Tokyo Disneyland + Tokyo Disney Sea)
ช่วงสุดท้ายของเรื่อง ยังมีการเปิดเผยแผนการแทรกซึมความเป็นไซตามะเข้าไปในทุกหย่อมหญ้าของประเทศญี่ปุ่น เช่น ไอศกรีมแท่งยี่ห้อ ガリガリ君 (Garigarikun) ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากไซตามะ วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1981 โดยมีคอนเซปท์ว่า เป็นน้ำแข็งไสที่ทานได้โดยใช้มือข้างเดียว และมียอดจำหน่ายในปี 2012 มากกว่า 400 ล้านแท่ง
แล้วยังมี FamilyMart ที่เปิดสาขาแรกในไซตามะตั้งแต่ปี 1973 จนถึงปัจจุบันมีสาขาในญี่ปุ่นมากกว่า 17,000 สาขา เป็นเชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น รองจาก 7-Eleven
Fumi Nikaido เล่นได้ลื่นไหลดีมาก บทของเธอมีทั้งความซีเรียสจริงจังและความตลกสลับไปมา ในต้นฉบับหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ตัวละคร Momomi เป็นผู้ชาย การเอาผู้หญิงมาเล่นบทนี้จึงทำให้รู้สึกแปลกนิดหน่อย ที่ตัวละครในภาพยนตร์ยังดูเป็นผู้หญิง แต่เธอคือบุตรชายของผู้ว่าการโตเกียว
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Japan Academy Film Prize ครั้งที่ 43 (第43回日本アカデミー賞) ที่จัดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2020 ถึง 12 สาขา คว้ามาได้ 3 รางวัลคือ ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และการตัดต่อยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Blue Ribbon Awards (ブルーリボン賞) ครั้งที่ 62 อีกด้วย