SEVRES
Friday
(2008)
EP จากวง Friday มีสมาชิกสามคนคือ อดุลย์ รัชดาภิสิทธิ์, เกรียงไกร วงษ์วานิช, และ ตรัย ภูมิรัตน โดยในแผ่นนี้มีเพลงทั้งหมด 3 เพลง คือ “เชย”, “ไม่ว่าเธอจะรักฉันหรือไม่”, “เพลงรักเก่า” + 1 Remix Notens Volens ของเพลง “เชย” + backing track ของทั้งสามเพลง รวมทั้งหมดเป็น 7 แทร็ค
ตัวแพ็คเกจออกแบบมาได้เรียบสวยดี เมื่อดึงซองสีฟ้าขึ้นมา ก็จะเอาแผ่นซีดีออกมาได้ ไม่มีซองใส่ซีดี ไม่มีเนื้อเพลง ไม่มีแผ่นพับใดทั้งสิ้น รายละเอียดของเพลงและเครดิต ก็ใช้พิมพ์บนซองสีฟ้าไปเลย ส่วนคำอธิบายเพลงต้องตามไปอ่านใน hifriday.hi5.com เอาเอง ก็ขออนุญาตลอกมาวางไว้ตรงนี้ละกัน เพื่อความสะดวกในการอ่าน
เชย
สิ่ง ที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจจะฝืนได้เลยนั่นคือกาลเวลา ในโลกที่หมุนเร็ว จนบางทีเราตามไม่ทัน เพลงนี้เป็นเสียงสะท้อนของคนๆ หนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าเขาจะไม่ค่อยมั่นใจนักในความรักที่เขามี เขาอยากรู้ว่าเมื่อเวลาได้ผ่านล่วงเลยไป คนรักของเขาจะมองว่ามันร่วงโรย และล้าสมัยตามไป ด้วยหรือเปล่า และเพลงนี้ คงเป็นเหมือนกับคำถาม ที่จะถามคนรักของเขาว่า ‘เวลา’ จะเปลี่ยน ความรู้สึกของเธอไปบ้างไหม
ไม่ว่าเธอจะรักฉันหรือไม่
คน ที่มีความรักนั้นต้องรู้สึกวุ่นวายใจอยู่เสมอ เนื่องจากความคาดหวังที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ปัญหาหัวใจหลักๆ ของคนนั้นคงไม่พ้น เพราะเราอยากให้เขารักเราตอบ หรืออยากให้เขารักเรา เท่ากับที่เรารักเขา แต่มีคนบางคนบอกว่า ความรักของเขาเป็นความสวยงามของความรู้สึก เพลงนี้เป็นเพลงอารมณ์สบายๆ ที่เป็นมุมมองเชิงบวก แม้ความรักที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นไปไม่ได้ แต่เราก็ยังสามารถที่จะสุขใจที่ได้มีความรู้สึกรัก
เพลงรักเก่า
เพลง นี้อาจเป็นเหมือนบทสรุปของการเดินทางอันยาวนาน ตั้งแต่เพลง กลับมา เปลี่ยนไปทุกอย่าง รักที่เพิ่งผ่านพ้นไป เพลงเศร้า ส่งแค่นี้ ผูกพัน จนมาถึงเพลงนี้ เพลงที่พูดถึงเพลงเก่าๆ เหล่านั้น ด้วยความรู้สึกที่ไม่เศร้า อาจเป็นแค่การถอนใจเบาๆ นึกถึงวันเก่า ใครคนหนึ่งเขียนเพลงนี้ ด้วยความรู้สึกที่บอกว่า ทางแยกในวันวานนั้น วันนี้เมื่อเรามองกลับไป อาจจะทำให้เรานึกถึง ความรู้สึกดีๆ ที่เคยเกิดขึ้นมากมาย ในวันเก่าๆ ครั้งนั้นก็เป็นได้
โดยรวมก็เป็นอัลบัมที่ฟังได้เพลินดีทีเดียว เพลงแรกไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก แต่กลับชอบอันที่เอามาทำเป็นรีมิกซ์มากกว่า (แทร็ค 4) เปิดมาไลน์เบสแบบนี้ก็ได้ใจไปแล้ว ส่วนเพลงที่ชอบที่สุดในนี้คงเป็นเพลงที่สอง “ไม่ว่าเธอจะรักฉันหรือไม่” เพลงที่สาม “เพลงรักเก่า” ชอบแค่ไลน์เปียโนตรงช่วงท้ายของเพลง อาจจะรู้สึกไปเองว่าเสียงของนักร้องนำไม่เหมาะกับเพลงนี้เท่าไหร่ ช่วงเวลาขึ้นเสียงสูงมันฟังดูบีบเกินไปนิด
เห็นชื่ออัลบัม Sevres พลันนึกไปถึง Sèvres ที่เป็นเครื่องเคลือบอย่างดีของฝรั่งเศส สมัยศตวรรษที่ 18-19 มีชื่อเสียงมาก และโรงงานก็ตั้งอยู่ในเมืองชื่อ Sèvres ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อนั่นเอง แต่พลิกดูแผ่นไปมาก็ไม่น่าเกี่ยวกัน ก็เลยลอง google หา “friday sevres” ดู กลับเจอแต่เว็บแจก mp3 … เสื่อม!!!
นึกขึ้นได้ว่า boydchan เคยเขียนถึงงาน fat festival 8 …ตามไปอ่านดู แล้วเขาก็บอกให้ไปอ่านต่อที่ insidezentrady อ่านแล้วจึงรู้ว่าเขาต้องการหมายถึงสีฟ้านี่เอง คือ หน้าปกมีตัวหนังสือ SEVRES เจาะเป็นรู ข้างในมีสีฟ้า (blue) = Sevres Blue
คำว่า Sèvres ไม่ได้หมายถึงสีฟ้า มันเป็นชื่อเฉพาะอย่างหนึ่ง (แต่คนจะรู้ว่าหมายถึง Sèvres porcelain) ส่วนคำศัพท์คำว่า Sèvres Blue หมายถึง สีฟ้าอ่อน คำศัพท์คำนี้ (Le bleu de sèvres) ก็ได้มาจาก สีเฉพาะของเครื่องเคลือบ (porcelain) ของ Sèvres โดย มันจะมีลักษณะเป็นผง ทำขึ้นในห้องแล็ป แล้วเอามาผสมกับยางสน จากนั้นก็เอาไปเคลือบสามครั้งด้วยแปรงที่ต่างกัน แล้วเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิ 980°c เพื่อให้ยางสนเผาไหม้ไปจนหมด จึงเผาต่อที่อุณหภูมิ 1360°c
จบหักมุม