Latest

DARA of JASENOVAC

3000 1688 PRADT
3 MINUTE READ

Дара из Јасеновца

DARA of JASENOVAC
Predrag Antonijević
(2021)

★★★★½
 

ภาพยนตร์ดอิงประวัติศาสตร์ของชาวเซอร์เบียในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ระหว่างปี 1941 – 1945) ที่ Ustaše รัฐบาลคลั่งชาตินิยมของโครเอเชียได้ทำการสร้างค่าย Јасеновца (Jasenovac) ในเดือนมิถุนายน 1941 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ค่ายย่อย กินพื้นที่กว่า 210 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ Sava และ Una เพื่อกักขังและสังหารชาวเซิร์บ, ชาวยิว, และชาวโรมานี โดยหนึ่งในค่ายย่อยเป็นค่ายที่สร้างขึ้นสำหรับกักขังเด็กโดยเฉพาะ

Ustaše หรือขบวนการปฏิวัติโครเอเชีย นำโดย Ante Pavelić ก่อตั้งรัฐเอกราชโครเอเชียขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 1941 หลังบุกครองยูโกสลาเวียได้สำเร็จ Independent State of Croatia เป็นรัฐหุ่นเชิดของนาซีเยอรมนีและอิตาลีฟาสซิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อุดมการณ์และแนวความคิดของ Ustaše มาจากทฤษฎีของนาซีที่เชื่อว่า ชาวเซิร์บ, ชาวยิว, ชาวโรมานี และชาวสลาฟ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีค่าน้อยกว่ามนุษย์ และยังเชื่อว่าพวกเขา (ชาวโครแอตซึ่งความจริงเป็นเชื้อชาติสลาฟ) ไม่ใช่ชาวสลาฟ แต่เป็นสายพันธุ์ที่สืบเชื้อสายมาจากเยอรมัน

พิพิธภัณฑ์ U.S. Holocaust Memorial ประเมินไว้ว่า Ustaše ได้ทำการสังหารผู้คน 77,000 – 99,000 คนในค่าย Jasenovac ในช่วงปี 1941 – 1945 โดยในจำนวนนั้นแบ่งออกเป็นชาวเซิร์บ 45,000 – 52,000 คน, ชาวยิว 12,000 – 20,000 คน, ชาวโรมานี (หรือชาวยิปซี) 15,000 – 20,000 คน และ ชาวโครแอตกับมุสลิมที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลจำนวน 5,000 – 12,000 ตน

Nataša Drakulić ได้นำเรื่องราวของผู้ที่รอดชีวิตจากค่าย Jasenovac มาสร้างเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้

ชาวเซิร์บส่วนใหญ่ถูกจับตัวและส่งไปที่ค่าย Jasenovac ในโครเอเชีย หลังจากสงคราม Kozara Offensive (Operation West-Bosnien) ของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติยูโกสลาเวียในปี 1942 บริเวณภูเขา Kozara ทางตะวันตกเฉียงเหนือของบอสเนีย

Dara Ilić (Biljana Čekić) เด็กสาวอายุ 10 ขวบ ถูกต้อนให้เดินไปพร้อมกับพี่ชาย, แม่, และน้องชายที่เพิ่งเกิดมาไม่ถึงสองเดือน พ่อของเธอถูกจับแยกส่งไปที่ค่ายเพื่อใช้แรงงานก่อนหน้านี้ เมื่อพวกเขาเดินทางไปถึงสถานีรถไฟ นายทหารสั่งให้ เด็ก ผู้หญิง และผู้ชายที่สามารถใช้แรงงานขึ้นไปบนรถไฟที่ใช้สำหรับขนส่งวัวเพื่อเดินทางไปที่ค่ายกักกัน ส่วนคนที่ไม่สบายหรือป่วยแยกตัวออกมาเพื่อรับการตรวจสอบก่อนจะส่งตัวไปที่ศูนย์ แต่หลังจากที่รถไฟเคลื่อนออกจากสถานี Dara แอบมองทางช่องว่างของประตูรถไฟและเห็นว่าทหารใช้ปืนสังหารคนที่ไม่ได้ขึ้นรถไฟทุกคน

Mile (Zlatan Vidović) พ่อของ Dara ถูกบังคับให้ใช้แรงงานในค่าย Gradina Donja ใกล้แม่น้ำ Sava ทำหน้าที่เป็นผู้ขนศพที่ถูกสังหารจำนวนมากมาโยนทิ้งในแม่น้ำ เขามีความหวังที่จะสามารถหนีออกจากที่นี่และกลับไปหาครอบครัวอีกครั้ง แต่ทหารของโครเอเชียรายล้อมอยู่ทุกที่ ถ้าถูกจับได้ โทษก็คือความตายสถานเดียวเท่านั้น — เมื่อทุกคนเดินทางมาถึงค่าย Jasenovac นายทหารก็สั่งให้ทุกคนนำสิ่งของมีค่า เงิน ทอง เครื่องประดับ ยาสูบ ออกมาให้หมด คนที่ถูกพบว่าซุกซ่อนของมีค่าเอาไว้กับตัว จะถูกฆ่าทันทีอย่างไร้ความปราณี

Vjekoslav Luburić (Marko Janketić) นายทหารชั้นสูงของ Ustaše เดินทางมาเยี่ยมชมค่าย Jasenovac และในคืนนั้นระหว่างรับประทารอาหารค่ำ ก็มีเกมเก้าอี้ดนตรีที่บังคับคนที่ถูกจับตัวมาเป็นผู้เล่น คนที่ไม่สามารถหาเก้าอี้นั่งได้ตอนที่เสียงเพลงหยุดลงก็จะถูกฆ่าทิ้ง เกมยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่นายทหารยังไม่สั่งให้หยุด และผู้เล่นก็ยังมีความหวังว่าจะมีชีวิตรอดคืนนี้ไปได้ถ้าเขาชนะเกมนี้ แต่ท้ายที่สุดทุกคนก็โดนฆ่าตายทั้งหมดอย่างโหดเหี้ยม

วันถัดมา Nada (Anja Stanić) แม่ของ Dara พยายามขัดขวางไม่ให้ทหารชาวโครแอตเอาตัว Jovo (Marko Pipic) ลูกชายคนโตของเธอไป แต่กลับทำให้ทหารไม่พอใจจนใช้ปืนยิงเธอและกระสุนยังทะลุไปโดน Jovo เสียชีวิตไปพร้อมกันทั้งคู่ ทำให้ Dara เหลือเพียงแค่ Bude น้องชายที่ยังเป็นเด็กทารกเพียงคนเดียว

ศพของ Nada และ Jovo ถูกขนไปที่ค่าย Gradina ซึ่ง Mile ทำงานอยู่ หัวใจของเขาแตกสลายเมื่อเห็นศพของภรรยาและลูกชายคนโต แต่ก็ยังมีความหวังว่าลูกสาวและลูกชายคนเล็กอาจจะยังมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง

Dara กับน้องชายถูกส่งตัวไป Stara Gradiška ค่ายกักกันที่สร้างขึ้นสำหรับผู้หญิงและเด็กโดยเฉพาะ แม่ชีคิดว่าเธอไม่สามารถดูแลเด็กทารกได้จึงต้องการส่งตัว Bude ไปที่โรงพยาบาลซึ่งไม่มีใครเคยได้กลับออกมาอีกครั้ง — Vera เห็นใจ Dara จึงเข้ามาอ้างตัวว่าเป็นญาติจนแม่ชียอมเชื่อและปล่อยให้เข้าไปได้

ปริมาณอาหารในค่ายมีจำกัด ไม่เพียงพอกับจำนวนคนที่ถูกส่งมาเพิ่ม อีกทั้ง Dara ที่เพิ่งย้ายมาก็ไม่มีจานอาหารของตัวเอง ทำให้เธอไม่สามารถออกไปรับอาหารที่ผู้คนกำลังแย่งกันได้ นายทหารโครแอตไม่คิดจะหาอาหารมาเพิ่มแต่กลับใช้ปืนกราดยิงคนที่กำลังรุมขออาหารจนวิ่งหนีกระเจิง คนที่หนีไม่ทันก็เสียชีวิตกันตรงนั้น Dara จึงเดินออกไปเก็บจานของผู้ที่เสียชีวิตเพื่อไปขออาหารมาแบ่งให้น้องชายและเด็กๆ ที่ถูกส่งมาพร้อมกับเธอ

สิ่งที่เหมือนเป็นแสงแห่งความหวังเพียงหนึ่งเดียว คือการแทรกแซงของตัวแทนจากกาชาด (Red Cross) ที่จะเดินทางมาที่ค่ายเพื่อพาตัวเด็กจำนวนหนึ่งออกไปหาคนที่จะรับอุปการะเลี้ยงดู แต่ Dara และน้องชายของเธอจะมีชีวิตรอดจนถึงวันนั้นหรือไม่

ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะเป็นหนึ่งในภาพยนตร์เกี่ยวกับผลของสงครามที่หดหู่และเศร้าที่สุดที่เคยดูมาเลยทีเดียว ราวกับเป็นซีรีย์ของโชคชะตาที่โหดร้ายของเด็กไร้เดียงสา ที่หลังจากความโชคร้ายยังมีความโชคร้ายยิ่งกว่ารออยู่ ถาโถมมาอย่างต่อเนื่อง

เข้าใจว่านี่เป็นภาพยนตร์ไม่ใช่สารคดี จึงน่าจะมีการเสริมแต่งตัวละครให้เกินจริงขึ้นไปอีก แต่บทร่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มาจากบันทึกของผู้ที่รอดชีวิตจากค่าย Jasenovac และก็มีรายงานการค้นคว้าว่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นเรื่องจริง คนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึง Genocide ก็จะนึกถึง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และค่าย Auschwitz ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้นเรื่องของ Jasenovac ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าจึงไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงกันมากนัก และน่าจะเคยถูกสร้างเป็นสารดดีเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 1945

นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น propaganda ของเซอร์เบียเพื่อให้คนเกลียดชาวโครแอต แต่คิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะคิดได้ว่าเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากว่า 75 ปีใน Balkans ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจากมุมมองของผู้หญิงและเด็ก

นอกจากการเล่าเรื่องได้สะเทือนจิตใจแล้ว องค์ประกอบศิลป์ก็ทำออกมาได้ดีมาก เพลงประกอบฝีมือ Roman Goršek และ Aleksandra Kovač ก็ดีมาก ขอชื่นชมการแสดงที่ยอดเยี่ยมของ Biljana Čekić ในบท Dara เด็กสาวที่ต้องการรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับแม่ของเธอว่าจะดูแลน้องชายให้ดี จะไม่ยอมพรากจากกัน นักแสดงสมทบทุกคนก็เล่นได้สมบทบาท

DARA of JASENOVAC แต่เดิมมีกำหนดฉายต้นปี 2020 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีของนักโทษที่หนีพ้นจากค่าย Jasenovac แต่ถูกเลื่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จนในที่สุดก็ได้ลงโรงฉายในสหรัฐอเมริกาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021 ภายใต้การจำหน่ายของ 101 Studios และได้ฉายทางโทรทัศน์ในประเทศเซอร์เบีย วันที่ 20 เมษายน 2021 โดยมีรายงานว่ามีผู้ชมถึง 2,650,000 คน ซึ่งเท่ากับ 50.3% ของส่วนแบ่งการรับชมโทรทัศน์ในประเทศเซอร์เบีย

หลังจากที่ World War II หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 1945 นาซีเยอรมนีล่มสลาย Ustaše ได้พยายามทำลายหลักฐานอาชญากรรมที่พวกเขาก่อขึ้นที่ Jasenovac ในเดือนเมษายน 1945 ซึ่งมีผู้ถูกกักขังอยู่ที่ค่ายเหลืออยู่ประมาณ 3,500 คน และมีการส่งนักโทษจากคุก Lepoglava มาที่ค่ายอีก 1,590 คน ซึ่งทุกคนถูกฆ่าทั้งหมด รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย และผู้หญิงอีกกว่า 900 คน

วันที่ 22 เมษายน 1945 ในค่ายยังมีนักโทษชายเหลืออยู่อีกกว่า 1,000 คน และเกิดการปะทะเมื่อนักโทษกว่า 600 คนพยายามหลบหนี แต่ถูกฆ่าเกือบทั้งหมด มีเพียง 92 คนที่สามารถหลบหนีไปได้ — Ustaše ได้สังหารนักโทษที่เหลือที่เหลือกว่า 600 คนซึ่งเลือกที่จะไม่หนี จากนั้นก็ทำการเผาอาคาร ที่กักขัง รวมถังห้องทรมาน และ Pićili Furnace เตาที่ใช้เผาศพนักโทษที่ถูกฆ่า

ภายหลังจึงได้มีการส่งคณะตรวจสอบเข้าพื้นที่ ซึ่งพบหลักฐานเป็นเถ้าถ่านและเศษกระดูกที่ไหม้ไฟ นอกจากนี้ยังพบหลุมศพขนาดใหญ่จำนวนมาก หนึ่งในนั้นเป็นหลุมที่มีศพถึง 189 ศพ ที่กระโหลกศีรษะมีลักษณะถูกทุบจนแตก โดย 51 ศพเป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 14 ปี

REPORT / REQUEST
REPORT / REQUEST