ภาพยนตร์ดัดแปลงจากนิยายซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริง เรื่องราวของผู้หญิงในกลุ่ม Mennonite ที่โดนผู้ชายวางยาสลบแล้วข่มขืนหลายครั้งเป็นเวลานานหลายปี พวกเธอต้องเลือกว่าจะยอมให้อภัยคนร้าย หรือจะออกจากชุมชนไปอยู่ที่อื่น
WOMEN TALKING
Sarah Polley
(2022)
Ona (Rooney Mara) ตื่นขึ้นมา และพบว่ามีคราบเลือดอยู่บนต้นขาของเธอ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับสตรีและเด็กผู้หญิงในชุมชน Mennonite ซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี พวกเธอรู้ว่าตนเองถูกใครบางคนข่มขืน แต่เมื่อพวกเธอแจ้งเรื่องนี้กับกลุ่มผู้อาวุโสหัวหน้าชุมชน พวกเขากลับสรุปว่ามันเป็นฝีมือของผีปิศาจร้าย หรือในบางครั้งพวกเธอก็ถูกกล่าวหาว่า ปั้นเรื่องโกหกจากจินตนาการเพื่อเรียกร้องความสนใจ
Mennonite คือสมาชิกของนิกายโปรเตสแตนต์ที่แยกตัวออกมาจาก Anabaptist (ซึ่งมีความเชื่อในพระเยซู เชื่อในการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคริสเตียน และปฏิเสธการมีส่วนร่วมในความรุนแรงหรือสงคราม) ในช่วงศตวรรษที่ 16 โดยตั้งชื่อตาม Menno Simons นักบวชของคริสตจักรโรมันคาทอลิกจากฟรีสลันด์ (Friesland) ที่มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1496 – 1561 ผู้ถูกขับไล่ออกจากนิกาย และต่อมากลายเป็นผู้นำทางศาสนาของ Anabaptist โดยสาวกผู้ติดตามของเขาถูกเรียกว่า Mennonites — พวกเขามีวิถีชีวิตคล้ายกลุ่มอามิช (Amish) แต่ยังไม่ถึงขั้นงดใช้ไฟฟ้า หรือเดินทางด้วยรถม้า พวกเขายังสามารถใช้รถยนต์เพื่อเดินทาง และยังสามารถใช้ไฟฟ้า รวมถึงการมีโทรศัพท์ในบ้าน
จนกระทั่งคนร้ายคนหนึ่งพลาดท่า ถูกจับได้ในเวลาต่อมา เมื่อถูกคาดคั้น คนร้ายก็ยอมเปิดปากพาดพิงถึงผู้ชายคนอื่นที่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ส่งผลให้คนที่เหลือในกลุ่มถูกจับไปด้วย พวกเขาถูกส่งตัวไปให้ตำรวจในเมือง เนื่องจากมีผู้หญิงที่โกรธแค้นพยายามใช้อาวุธทำร้ายพวกเขา
ระหว่างที่พวกผู้ชายในชุมชนเดินทางไปประกันตัวกลุ่มผู้ต้องหาที่โดนกักขังไว้ กลุ่มผู้นำอาวุโส (ซึ่งเป็นผู้ชาย) ก็ให้เวลากลุ่มผู้หญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำ 2 วัน เพื่อทำใจยกโทษให้กับคนร้ายก่อนที่พวกเขาจะถูกพาตัวกลับมา ถ้าพวกเธอไม่ยอมให้อภัยพวกผู้ชาย พวกเธอก็จะถูกขับไล่ออกไปจากชุมชน และพวกเธอจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์หลังจากพวกเธอตายตามความเชื่อของศาสนา
สมาชิกหญิงในชุมชน Mennonite ไม่ได้รับการศึกษาแบบผู้ชาย พวกเธอไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาอังกฤษได้ พวกเธอจึงใช้ภาพวาดแทนทางเลือกเพื่อให้ผู้หญิงผู้เคราะห์ร้ายแต่ละคนโหวตว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไรต่อไป ภาพเนินเขาหมายถึงการให้อภัยและใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ภาพของชายหญิงถือมีดหมายถึงการตัดสินใจอยู่ที่นี่เพื่อต่อสู้กับค้นร้ายซึ่งอาจจบลงด้วยความรุนแรงหรือความตาย และภาพม้าหมายถึงการออกจากชุมชนนี้ไป ผลคะแนนโหวตไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากผู้ที่เลือกอยู่เพื่อต่อสู้ และผู้ที่ตัดสินใจว่าจะออกจากชุมชนนี้ มีจำนวนเท่ากันพอดี
กลุ่มผู้หญิงจาก 3 ครอบครัวได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นผู้นำการประชุมพิเศษ เพื่อตัดสินใจแทนสมาชิกที่เหลือว่าพวกเธอจะเลือกไปทางไหน องค์ประชุมประกอบด้วย Ona (Rooney Mara), Agatha (Judith Ivey), Janz (Frances McDormand), Salome (Claire Foy), Mariche (Jessie Buckley), Greta, (Sheila McCarthy), และ Mejal (Michelle McLeod) พวกเธอเริ่มต้นการประชุมด้วยการถกเถียงกัน กลุ่มผู้หญิงสูงวัยบางคนที่ต้องการอยู่ที่นี่ต่อไปอย่างสงบ (ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ถูกตัดทิ้งไปแล้ว) พวกเธอเชื่อว่าการถูกขับไล่ออกจากชุมชนจะทำให้พวกเธอต้องตกนรกหมกไหม้ ส่วนกลุ่มผู้หญิงยุคใหม่กลับเห็นว่าเราควรให้ความสนใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน มากกว่ารอความสุขบนสวรรค์ในชีวิตหลังความตาย ที่พิสูจน์ไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า
พวกผู้หญิงขอให้ August (Ben Whishaw) ผู้ชายคนเดียวที่เหลืออยู่ มาเป็นคนจดบันทึกการประชุม เนื่องจากพวกเธอไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ ครอบครัวของเขาถูกขับไล่ออกจากชุมชน เนื่องจากแม่ของเขาเป็นคนช่างสงสัย และพยายามคานอำนาจกับกลุ่มผู้ชาย แต่ภายหลังกลุ่มผู้อาวุโสก็ยอมรับเขากลับเข้ามาในชุมชนอีกครั้ง เพราะเขามีการศึกษาที่ดี สามารถสร้างประโยชน์ด้วยการเป็นครูให้กับเด็กๆ ในชุมชม เขารู้จัก Ona ตั้งแต่ยังเด็กและแอบรักเธอมาตลอด
ความน่าสนใจของ WOMEN TALKING คือบทสนทนา การถกเถียงปัญหา และทางแก้ไขในกลุ่มผู้หญิง ภายใต้กฏเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ชาย ความคิดของพวกเธอที่ถูกตีกรอบไว้ด้วยคำพูดของผู้ชายที่กรอกหูพวกเธอมาตั้งแต่เกิด จนทำให้พวกเธอหลายคนเชื่อว่ามันเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น พวกเธอเชื่อว่าชุมชนที่พวกเธออยู่คือดินแดนของพระเจ้า ดังนั้นตัวเลือกที่ต้องออกจากชุมชน ซึ่งหมายถึงละทิ้งสรวงสรรค์ (ตกนรก) จึงแทบไม่เคยมีอยู่ในความคิดของพวกเธอเลย กลายเป็นว่าพวกเธอต้องทำใจกับการกระทำผิดของพวกผู้ชายมาตลอดชีวิต เพราะพวกเธอถูกบังคับให้ต้องยกโทษให้พวกเขา มันไม่ใช่การให้อภัยที่มาจากก้นบึ้งของจิตใจ
ผลงานกำกับภาพยนตร์ของ Sarah Polley หนึ่งในนักแสดงคนโปรด ที่ชอบมาตั้งแต่การแสดงของเธอในเรื่อง go (1999) แต่ดูเหมือนเธอจะหยุดงานแสดงไปตั้งแต่ปี 2010 และผันตัวมาสร้างชื่อในฐานะผู้กำกับ ซึ่งในเรื่องนี้เธอก็เป็นคนดัดแปลงหนังสือมาเป็นบทภาพยนตร์เองด้วย
นอกจากนักแสดงทุกคนที่เล่นได้สมบทบาทอย่างยอดเยี่ยมแล้ว ภาพทุกฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สวยมาก เป็นฝีมือของ Luc Montpellier ผู้กำกับภาพชาวแคนาดา แล้วยังมีเพลงประกอบฝีมือ Hildur Guðnadóttir ศิลปินชาวไอซ์แลนด์ที่ไพเราะแบบซึ้งสะเทือนใจ
ส่วนที่ประทับใจสุดคือภาพยนตร์แทบจะไม่มีการใช้ภาพที่แสดงความรุนแรงเลย (มีแค่ฉากแรกที่ผู้หญิงบุกเข้าไปทำร้ายผู้ชายที่เป็นคนก่อเหตุ) ไม่มีฉากข่มขืน (มีภาพเหตุการณ์หลังจากนั้น) ไม่มีฉากทำร้ายผู้หญิง (เห็นแค่สภาพของผู้หญิงหลังโดนทำร้ายแล้ว) แต่กลับรู้สึกถึงความกดดัน สภาวะที่ผู้หญิงเหล่านั้นต้องอดทนอดกลั้นกับการยอมถูกทำร้ายซ้ำไปซ้ำมา
ไม่น่าแปลกใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง Academy Awards ครั้งที่ 95 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Best Picture) และสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Adapted Screenplay) ซึ่ง WOMEN TALKING มีโอกาสที่จะคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาได้อีกด้วย แม้ว่าในประวัติศาสตร์ของรางวัล Academy Awards จะมีภาพยนตร์เพียง 6 เรื่อง (จาก 94 เรื่อง) ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยที่ตัวผู้กำกับไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง คือ GREEN BOOK (2018), THE SHAPE OF WATER (2017), ARGO (2012), DRIVING MISS DAISY (1989), GRAND HOTEL (1932) และ WINGS (1927)
WOMEN TALKING ดัดแปลงจากหนังสือนิยายชื่อเดียวกัน ผลงานของ Miriam Toews นักเขียนขาวแคนาดา ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งเธอได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนของ Mennonite ในประเทศโบลิเวีย ช่วงปี 2005 – 2009 มีสตรีและเด็กผู้หญิงมากกว่า 100 คน อ้างว่าพวกเธอถูกข่มขืนขณะที่พวกเธอกำลังหลับอยู่ แต่ไม่มีหลักฐานนอกจากคราบเลือดบนขาและผ้าปูที่นอน หรือกางเกงในที่พวกเธอสวมใส่หายไปอย่างปริศนา เมื่อพวกเธอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมา
เหล่าผู้อาวุโสผู้นำชุมชม (ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด) มักจะเป็นผู้ตัดสินเหตุขัดแย้งในชุมชนโดยไม่พึ่งตำรวจ จึงปัดข้อกล่าวหาของพวกเธอทิ้งไป จนกระทั่งกลุ่มผู้อาวุโสเกิดความสงสัย จึงแอบสะกดรอยตามชายที่ดูมีพิรุธคนหนึ่ง และสามารถจับตัวคนร้ายได้คาหนังคาเขา ขณะที่ผู้ชายคนนั้นกำลังลงมือข่มขืนผู้หญิง
ชายคนดังกล่าวถูกส่งตัวให้กับทางการของโบลิเวีย รายงานเรื่องนี้ขึ้นไปถึงศาล มีเหยื่อผู้ถูกกระทำก้าวออกมาให้การเป็นพยานจำนวนมาก ขยายผลการสืบสวนจนจับตัวกลุ่มชายผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด 8 คน ฐานใช้ยาสลบสำหรับสัตว์ทำให้เหยื่อหมดสติก่อนจะลงมือข่มขืนเพื่อไม่ให้เหยื่อรู้สึกตัวขัดขืน ศาลสั่งตัดสินโทษให้จำคุกคนร้ายแต่ละคนเป็นเวลา 25 ปี
WOMEN TALKING ฉายรอบปฐมทัศน์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ Telluride วันที่ 2 กันยายน 2022 ก่อนจะเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา วันที่ 23 ธันวาคม
WOMEN TALKING ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 2 รางวัลจาก Academy Awards ครั้งที่ 95 ซึ่งจัดขึ้นที่ Dolby Theatre ในลอสแอนเจลิส วันที่ 12 มีนาคม 2023 ในสาขา Best Adapted Screenplay (Sarah Polley), Best Picture และสามารถคว้ามาได้ 1 รางวัลคือ Best Adapted Screenplay (Sarah Polley)