sweet talk
スイートトーク
2007 | anchalee
sweet talk (スイートトーク ญี่ปุ่นอ่านว่า สุอีโตะโตคุ) ผลงานการเขียนของคุณหมูใคร่รู้ curious pig (เอ๊ะ หรือหมูขี้สงสัย) อัญชลี ศรีไพศาล จัดรูปเล่มโดยคุณ pavinee ภาวิณี ศรีไพศาล / พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2550 จัดพิมพ์โดย หจก.ภาพพิมพ์
ชื่อหนังสือก็บอกอยู่แล้วว่า sweet talk ในเล่มก็จะเป็นการพรรณนาถึงขนมและของหวานในประเทศญี่ปุ่น ด้วยถ้อยคำที่สละสลวย อ่านแล้วเพลิดเพลินดีแท้ การจัดหน้าตัวอักษรก็ดูแปลกตา ไม่ได้พิมพ์เรียงติดกันเป็นพรืด เหมือนหนังสือทั่วไป ท้ายเล่มยังมีแผนที่ร้านต่างๆ ที่พูดถึงในเล่ม เผื่อผู้อ่านจะอยากดั้นด้นไปหาทานกันด้วยตัวเอง
มันเผาที่ญี่ปุ่น ไม่ได้ปิ้งบนเตาถ่านเหมือนที่เห็นกันทั่วไปใน
บ้านเราแต่เป็นการเผาโดยซุกไว้ในกองก้อนหินเผาไฟ
ความร้อนจึงอบระอุ แผ่ซ่าน แทรกซึม ล้ำลึก
ทำให้เนื้อสุกถึงในทุกอณูของหัวมัน
หากหักออกดู จะเห็นเนื้อเหลืองอร่ามสุกทั่ว ดูนุ่มน่าทานเป็นที่สุด
แถมเปลือกก็ไ่ม่แข็งกระด้างไหม้เกรียมเหมือนเผาบนเตาถ่าน
กลิ่นหอมแสนเย้ายวน ชวนน้ำลายสอออกมารออยู่เต็มปาก
ยามเอนไซม์ปะทะกับเนื้อมันร้อน ๆ จึงรู้สึกถึงความหวาน…อร่อย
เกิดอาการมุมปากฉีกเป็นรอยยิ้มแฉ่งด้วยความสุขในบัดดล
แค่มันเผายังสามารถเขียนเก็บรายละเอียดได้น่าสนใจขนาดนี้ ภายในเล่มยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ทั้งขนมและเครื่องดื่ม พร้อมรูปประกอบ ที่ดูเหมือนจะมีไม่ครบทุกเรื่องที่เขียนถึง เข้าใจว่าอาจจะลงท้องไปก่อนจะได้ถ่ายรูป อันเป็นเรื่องปกติของคนชอบของอร่อย เวลาเห็นของกินน่าอร่อยอยู่ตรงหน้าแล้วหน้ามืด ต้องชิมก่อน
รูปประกอบที่แทรกสอดอยู่ในหนังสือ มีการวางที่ค่อนข้างน่าฉงน บางทีก็วางอยู่หน้าบทความ บางคราก็วางไว้หลังบทความ อาจจะเป็นกลวิธีทางจิตวิทยา ให้ผู้อ่านได้พลิกกลับไปกลับมาเพื่อค้นหารูป ก่อเกิดความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่บางรูปมันไม่ีมี พลิกไปมาอย่างไรก็ไม่เจอ เลยคิดว่า ถ้ามีหมายเหตุหรือวงเล็บไว้ในบทความว่ารูปอยู่ที่หน้าใด อาจจะดีกว่านี้ เวลาอ่านจะได้พลิกไปชมหน้าตาของมันได้ทันที (+ถ้ามีราคาประมาณด้วยจะดีมาก)
ใครชอบเรื่องราวของของหวาน ก็หาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป แต่ถ้าจะให้แน่ ควรไปซื้อที่ร้านนายอินทร์ครับ หน้าปกน่ารัก สีเขียวดึงดูดขนาดนี้ ควรรีบไปหามาเป็นเจ้าของโดยพลัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ sweet talk และ sweet talk behind the scene