Latest

Farinelli

3000 2000 PRADT
4 MINUTE READ

Farinelli

Gérard Corbiau
(1994)

★★★★★
 

ฟารีเนลลี่ (Farinelli) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นโดยใช้เค้าโครงเรื่องของบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เรื่องราวของความงามแห่งเสียงเพลง ความขัดแย้งในตัวเอง ความจริงที่โหดร้าย ชื่อเสียงและการสรรเสริญ ฟารีเนลลี่ในภาพยนตร์ จะเป็นประวัติชีวิตส่วนหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมา เป็นเรื่องราวของหนึ่งในนักร้องสุดยอดแห่งศตวรรษที่ 18

ภาพยนตร์สัญชาติเบลเยี่ยมออกฉายในปี 1994 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Academy Awards สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศ มีรางวัลการันตี ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจาก Golden Globe Awards ในปี 1995 และ César Awards ในสาขาเสียงประกอบ

ฟารีเนลลี่เกิดในปี 1704 มีชื่อจริงว่า คาโล บลอสกี (Carlo Broschi) ส่วนชื่อ Farinelli นั้นเป็นชื่อที่เขาใช้ในการแสดง และด้วยเสียงน้ำเสียงที่สุดยอดของเขา ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วทั้งในอิตาลี อังกฤษ รวมไปถึงสเปน กล่าวได้ว่านักร้อง Castrato ที่โด่งดังอย่างสูงสุดในสมัยศตวรรษที่ 18 ก็คือ คาร์โล บลอสกี หรือ ฟาริเนลลี่ นั่นเอง

ในสมัยศตวรรษที่ 17-18 นั้น นักร้อง soprano ผู้ชายนั้นได้รับความนิยมและมีความต้องการอย่างมาก นักร้องเสียง Soprano ผู้ชายนั้นจะถูกเรียกว่า Castrato (เป็นภาษาอิตาเลียน ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า castrated) โดยปกติแล้วเด็กผู้ชายจะมีเสียงร้องที่ใสและสูง แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มเส้นเสียงจะถูกพัฒนาขึ้นจากการสั่งการของฮอร์โมนภายในร่างกาย

Castrato ก็คือนักร้องชาย ที่ยอมสละอวัยวะเพศของตนเองเพื่อหยุดการทำงานของฮอร์โมนไม่ให้ไปพัฒนาเส้นเสียง เป็นการรักษาเสียงให้ใสและสูงตลอดไป นอกจากนี้ยังมีการบังคับเด็กที่มีพรสวรรค์ให้ทำการ castration ตั้งแต่ยังเด็กอีกด้วย ตามท้องเรื่องนั้นจะมีการบอกว่า Farinelli สูญเสียอวัยวะส่วนนั้นไปเนื่องจากอุบัติเหตุตกม้าสมัยที่เขายังเด็ก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเหตุที่ทำให้เขาคงเสียงที่สูงเหนือธรรมดาไว้ได้

ภาพยนตร์จะใช้การเล่าเรื่อง กลับไปในอดีตของ Farinelli (Stefano Dionisi) ตั้งแต่สมัยที่เป็นนักร้องเด็กอยู่ในวงประสานเสียง ซึ่งเขาได้รับแรงสนับสนุนจากบิดาของเขาที่ต้องการให้บุตรชายของตนเข้ามาอยู่ในโลกของดนตรี โดยบิดาของเขาพยายมผลักดันให้พี่ชายของฟารีเนลลี่ที่ชื่อว่า Riccardo (Enrico Lo Verso) ให้เป็นนักประพันธ์เพลง ส่วนฟารีเนลลี่นั้นก็จะขับร้องเพลงที่พี่ชายเข้าแต่งเพื่อเป็นการเกื้อหนุนกันและกัน

ภาพยนตร์เก็บส่วนที่เป็นปมปริศนาไว้อย่างมิดชิดถึงความจริงที่ถูกซ่อนไว้ และเน้นไปที่ความสามารถในการร้องเพลงของฟารีเนลลี่ ชื่อเสียงของฟารีเนลลี่เริ่มโด่งดังจากปากต่อปาก แพร่สะพัดกระจายไปไกล ทำให้ทุกคนต้องการอยากจะได้ฟังเสียงของเขา การแสดงของเขาทุกครั้งได้รับการตอบรับที่ดีจากมหาชนอยู่เสมอ ทางโรงละครต่างๆ ก็ส่งคำเชิญมาให้เขา เพราะฟารีเนลลี่ไม่ได้เป็นเพียงนักร้องที่มีเสียงสูงและงดงามอย่างธรรมดา ว่ากันว่าเสียงของเขามีพลังที่สามารถเข้าไปสั่นคลอนจิตใจของผู้ได้รับฟังอย่างรุนแรงราวกับต้องมนตร์

ภาพยนตร์ยังเน้นไปที่ตัวละครอีกคน นักประพันธ์เพลง Georg Friedrich Händel (Jeroen Krabbé) ที่ต้องการ Farinelli มาร่วมงาน เนื่องจากได้เห็นความสามารถ แต่เขาต้องการเพียงตัว Farinelli เท่านั้น ไม่ต้องการพี่ชาย ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน กลายเป็นการแข่งชิงอำนาจระหว่างกันไปในที่สุด

บทภาพยนตร์ยังแสดงให้เห็นถึงประเด็นความขัดแย้ง ในตัวของฟารีเนลลี่เอง ด้านหนึ่งเขามีความสุขกับการที่ได้ร้องเพลง มีความปรารถนาในคำยกย่องสรรเสริญ และมีความสุขกับชื่อเสียงเงินทอง ส่วนอีกด้านหนึ่งนั้น คือความเจ็บปวดกับบางส่วนที่เขาเสียไป ความสัมพันธ์ที่เริ่มแตกแยกระหว่างพี่น้อง เมื่อฟารีเนลลี่ได้ฟังดนตรีของแฮนเดล ใจหนึ่งของเขาแสดงให้เห็นว่า เขารู้สึกชื่นชมผลงานของแฮนเดล แต่นั่นก็หมายถึงว่า เขาจะต้องทิ้งพี่ของเขาไป และยอมแพ้ต่ออำนาจของแฮนเดล

Farinelli เป็นเรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นโศกนาฏกรรมที่แปลกแต่น่าสนใจอย่างน่าประหลาด ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีบทเพลงที่ไพเราะ รวมถึงเครื่องประดับ และฉากที่ทำออกมาได้อย่างสวยงาม

หลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้าต้องการเสียงสูง ทำไมสมัยนั้นไม่ใช้นักร้องผู้หญิง สาเหตุนั้นมีอยู่ว่าเสียงของผู้ชายนั้น มีความหนักแน่นและมีเนื้อเสียงที่หนากว่าเสียงผู้หญิง สามารถเปล่งเสียงในโทนที่กว้างกว่า ลึกกว่า ละเอียดกว่า นอกจากนี้ยังสามารถใช้เทคนิคควบคุมเสียงที่เหนือกว่า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ในสมัยศตวรรษที่ 17-18 นักร้อง Castrato ที่เก่งๆ เป็นที่ต้องการตัวอย่างมาก ในสมัยนั้นผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์ที่จะทำอะไรหลายอย่าง ตามบันทึกของ Church of Rome ที่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน

Let your women keep silence in the churches. I Corinthians 14:34

Let the woman learn in silence with all subjection. but I suffer not a woman to teach, nor to usurp authority over men, but to be in silence. I Timothy 2:11-12

ซึ่งหมายถึง St. Paul นั้นมีความเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรมีส่วนในการสนทนาในเชิงทฤษฎีหรือสอนผู้ชาย และข้อดังกล่าวนั้นเข้มงวดอย่างมาก ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดหรือขับร้องในโบสถ์ นอกจากนี้ทางโบสถ์ยังมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิง เข้าร่วมในการแสดงมหรสพต่างๆ อีกด้วย

ในสมัยช่วยกลาง (Middle Ages) การขาดเสียงร้องของผู้หญิงในการขับร้องในโบสถ์นั้นดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาใดๆ เพราะมีการใช้เสียงเด็กผู้ชายมาแทน แต่อย่างไรก็ตามเสียงของเด็กผู้ชายนั้นมีความยุ่งยาก และเมื่อมาเจอกับท่วงทำนองดนตรีที่สลับซับซ้อนซึ่งถูกเขียนขึ้นมาในช่วงปลายของปี 1500 ทำให้เห็นถึงปัญหาที่ว่า เสียงของเด็กผู้ชายนั้นไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะขับร้องดนตรีดังกล่าว และเมื่อร่างกายพัฒนาไปจนถึงจุดหนึ่ง เสียงของเด็กผู้ชายก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

แต่ปัญหานี้ก็ถูกแก้ไขอย่างทันที โดยว่าจ้างนักร้องเสียงฟาลเซ็ตโต้ (Falsettist) มาจากสเปนทั้งหมด ซึ่งดูเหมือนว่าพวกเขา จะมีเทคนิคพิเศษบางอย่างที่ช่วยรักษาเสียงของพวกเขา ให้มีช่วงเสียงที่กว้างและสูง และมีเนื้อเสียงที่มีพลังกว่า บางคนกล่าวว่า แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคาสตราติทั้งหมดหรือไม่ก็มีบางคนที่เป็น

ในบันทึกปี 1599 ปิเอโตร เปาโล โฟลิงาโต้ (Pietro Paolo Folignato) และ จิโรลาโม รอสสินี่ (Girolamo Rossini) สองคาสตราติชาวอิตาเลียน ได้เข้ามาขับร้องที่ Sistine Chapel และในช่วงเดียวกันนั้นเอง ดนตรี Opera ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาโอบอุ้มเหล่า Castrati ทั้งหลาย

Castration นั้นมีการใช้ตั้งแต่อดีตกาล ซึ่งถือเป็นการลงโทษอย่างหนึ่ง แต่ในบางกรณี ทาสก็จะถูกทำการ castration เพื่อไปเป็นยามเฝ้าฮาเร็ม หรือรับใช้สตรีผู้สูงศักดิ์

Castrato

มีการบันทึกว่าเกิดชึ้นมาครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 16 และได้รับความยนิยมสูงสุดในสมัยศตวรรษที่ 17-18 บทร้องของตัวเอกชาย มักจะถูกเขียนขึ้นสำหรับขอบเขตเสียงของ Castrato (อย่างในโอเปราของแฮนเดลเป็นต้น) ในปัจจุบันนั้นไม่มี Castrato แท้เหลืออยู่อีกแล้ว บทดังกล่าวก็จะถูกขับร้องโดยผู้หญิง หรือ เคาเตอร์เทเนอร์ (Counter Tenor) ส่วน Castrato แท้ๆเพียงคนเดียวที่มีการบันทึกเสียงคือ อเลซซานโดร โมเรสกี (Alessandro Moreschi) ซึ่งได้บันทึกไว้ในปี 1902 และ 1904 นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงการค้นพบ คาสตราโต้แบบธรรมชาติ (Natural Castrati) ซึ่งเป็นบุคคลที่เกิดขึ้นมา กับความผิดปกติของเส้นเสียง ทำให้สามารถสร้างเสียงแบบเดียวกับ Castrato โดยไม่จำเป็นต้องมีการผ่าตัด

Sopranista

โซปรานิสต้า หรือโซปรานิส (Sopranist) คือนักร้องผู้ชายเสียงธรรมชาติ ที่ไม่ได้ผ่านการ castration แต่มีความสามารถในการใช้เสียง ขึ้นไปจนถึง Soprano Register โดยไม่มีการใช้ Falsetto (เทคนิคพิเศษ) บุคคลเหล่านี้ มีเพียงจำนวนไม่กี่คนในโลก โดยโซปรานิสต้าเหล่านี้ สามารถขับร้องบทเพลงบางส่วนที่เขียนขึ้นเพื่อ Castrato และบทเพลง ที่เขียนขึ้นเฉพาะสำหรับโซปรานิสต้า โดยนักประพันธ์เพลงอย่างรอสสินี่ (Gioachino Rossini) — Soprano คือคือชื่อเรียกของนักร้อง ที่มีเสียงอยู่ในช่วงระหว่าง Middle C ไปจนถึง A ตัวโน้ตลำดับที่ 13 จาก Middle C ซึ่งเป็นช่วงเสียงที่สูงที่สุดในทางดนตรี

Counter Tenor

คือนักร้องผู้ชายที่มีการใช้ ฟาลเซ็ตโต้ (Falsetto) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการร้องเพลง เพื่อให้ได้เสียงที่สูงกว่า range เสียงธรรมดา โดยปกติแล้วพวกเขาจะมี range เสียงอยู่ที่อัลโต (Alto) ของผู้หญิง แต่ในคนที่พิเศษจริงๆ ก็สามารถขึ้นไป เทียบเสียงกับโซปราโน่ (Soprano) ได้เลยทีเดียว

Alto

คือชื่อเรียกของเสียง ในทางดนตรีนั้น อัลโต้จะหมายถึงนักร้องที่มี range เสียงอยู่ระหว่าง เทเนอร์ (Tenor) และ โซปราโน่ (Soprano) โดยอัลโต้ทั่วไป จะมีขอบเขตของเสียงอยู่ระหว่าง Middle C จนถึง D (โน้ตตัวที่เก้าจาก Middle C)

Tenor

คือชื่อเรียกของนักร้องชายที่มีเสียงสูง (แต่ต่ำกว่า Counter Tenor) โดยจะมีขอบเขตของเสียง ที่สูงกว่า Bass และอยู่ต่ำกว่า Alto นักร้อง Tenor โดยทั่วไปจะมีขอบเขตของเสียงตั้งแต่ C (คู่เสียงที่อยู่ต่ำกว่า Middle C) ไปจนถึง A (เหนือ Middle C) ปัจจุบันนักร้อง Tenor ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันดีก็จะมี โฮเซ่ คาเรร่า (Jose Carrera), พลาซิโด โดมิงโก้ (Placido Domingo) ลูชีอาโน่ พาวาร็อตติ (Luciano Pavarotti) กุยเซ็ปเป ดิ สเตฟาโน่ (Giuseppe di Stefano) และที่ลืมไม่ได้ นักร้องความสามารถสูง ที่มีความพิการทางสายตาอย่าง อังเดรีย โบเชลลี่ (Andrea Bocelli) ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก

Bass

คือนักร้องชาย ที่สามารถใช้เสียงในช่วงต่ำที่สุดของมนุษย์ นักร้องเบสทั่วไปจะมีช่วงเสียงอยู่ระหว่าง F (หนึ่งคู่เสียงครึ่ง ต่ำกว่า Middle C) ไปจนถึง E (เหนือ Middle C)

THIS ARTICLE WAS FIRST PUBLISHED ON

 
To ensure the accuracy of the records, please contact via email
if any information requires correction or updating.


YOU CAN ALSO BUY ME A COFFEE

6 comments
  • โอว น่าดูจังเลยค่ะ [ouch]

  • คุ้นๆ ว่าเคยดูใน amadeus มันก็มีฉาก castration แบบนี้ (รึเปล่า?)

  • mk:
    amadeus เท่าที่จำได้ไม่มีนา คนนั้นเขายุคคลาสสิค หลังจากยุคบาโรคในเรื่องนี้ไปอีก

  • เหมือนเรื่องนี้เคยดูนานมาแล้ว เศร้าๆยังไงไม่รู้

    เออเลยนึกขึ้นได้ว่า ตอนเด็กๆเคยโดนโรงเรียนหลอกไปร้องเสียง alto ในวงประสานเสียงอยู่ช่วงนึง อดเล่นบอลกับเพื่อนตอนกลางวันไปสามปี เซ็งมาก โตขึ้นมาเพิ่งรู้ว่าเราโดนหลอกใช้นี่เอง [desperate]

  • ใน Amadaeus มันเป็นผู้หญิงร้องครับ

  • เท่าที่จำได้ว่าโมสาร์ตเคยแต่งเพลงให้คาสตราโตอยู่บ้างเหมือนกัน (ขอไปค้นดูก่อน ไม่แน่ใจ)

    ถ้าใน amadeus มีฉาก castration (การตอน) คงสยองพิลึก!

Comments are closed.

REPORT / REQUEST
REPORT / REQUEST