THE FIRST MONDAY IN MAY
Andrew Rossi
(2016)
วันจันทร์แรกในเดือนพฤษภาคมของทุกปี The Metropolitan Museum of Art พิพิธภัณฑ์ศิลปะในนครนิวยอร์กจะจัดงาน Met Gala ที่ถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในงานแฟชันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีชื่อเรียกอีกหลายชื่ออาทิ Costume Institute Gala, Costume Institute Benefit, Met Ball เป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1948 เพื่อระดมทุนสำหรับ Costume Institute ที่จัดแสดงแฟชันคอลเลกชันที่ใหญ่ที่สุด — ปัจจุบันมีชื่ออย่างเป็นทางการคือ Anna Wintour Costume Center ตามชื่อของบรรณาธิการนิตยสาร Vogue, อาร์ตไดเรคเตอร์ของบริษัท Condé Nast และประธานจัดงาน Met Gala
งานเลี้ยงครั้งแรกจัดขึ้นในปี 1948 เพื่อระดมทุนสำหรับ Costume Institute ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของงานแสดงประจำปี โดยในปีแรกเป็นงานรับประทานอาหารค่ำแบบขายบัตรใบละ 50 เหรียญสหรัฐ (ถ้าคิดมูลค่าในปัจจุบันจะมีค่าเท่ากับ 564 เหรียญ หรือประมาณ 19,000 บาท) และหลังจากที่ Diana Vreeland บรรณาธิการนิตยสาร Vogue คนก่อนเข้ามาเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ปี 1973 งาน Met Gala ก็กลายเป็นที่รู้จักกันในฐานะงานที่หรูหราและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดงานสังคมของนครนิวยอร์ก
ปัจจุบัน Met Gala คือหนึ่งในงานสังคมที่โดดเด่นและพิเศษที่สุดในโลก นับตั้งแต่ Anna Wintour บรรณาธิการนิตยสาร Vogue เข้ามาเป็นประธานจัดงานในปี 1995 เป็นผู้ดูแลควบคุมทุกอย่างตั้งแต่คณะกรรมการไปจนถึงรายชื่อแขกที่จะได้รับเชิญมางาน โดยในแต่ละปีจะมีผู้ได้รับเชิญเพียง 500 – 700 คนเท่านั้น ค่าบัตรเข้างานสำหรับบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อมีราคาถึง 40,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.3 ล้านบาท)
แต่ละปี Met Gala จะกำหนดธีมของงาน ซึ่งแขกที่ได้รับเชิญจะต้องแต่งกายให้เข้ากับธีมของปีนั้น เหล่านักแสดง ศิลปิน นักร้องชื่อดัง ก็จะถูกจับคู่กับนักออกแบบที่จะสร้างสรรค์ผลงานแฟชันศิลปะบนเรือนร่าง มาประชันกันบนพรมแดงหน้างานที่เต็มไปด้วยนักข่าวและช่างถ่ายภาพ ถ่ายทอดไปสู่สายตาคนทั่วโลกที่คอยจับตามองอยู่
Thomas Campbell ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์ว่าในอดีตสมัยที่เขายังเป็นภัณฑารักษ์ (curator) ศิลปะหมายถึงภาพวาด (painting), สถาปัตยกรรม (architecture) และประติมากรรม (sculpture) เท่านั้น ทุกสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากนี้ รวมถึงงานที่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและแฟชัน ถูกมองว่าเป็นเพียงแค่ของประดับตกแต่ง — แม้ว่า Costume Institute ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์มานานแล้ว ก็ยังมีคนในพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ยังเชื่อว่าแฟชันเครื่องแต่งกายเป็นพื้นที่ของผู้หญิง ไม่ใช่งานศิลป์ที่แท้จริงอย่างภาพวาดที่ไม่มีการแบ่งแยกเพศ โดยมองข้ามรายละเอียดของงานออกแบบชุดที่มีไอเดียบนพื้นฐานของความงาม เทคนิคการถักทอตัดเย็บสร้างลวดลายอันวิจิตรที่ผ่านกลั่นกรองมาหลายยุคสมัย
Andrew Bolton ภัณฑารักษ์ของ Costume Institute จัดนิทรรศการ Alexander McQueen: Savage Beauty ในปี 2011 ซึ่งเป็นงานแสดงผลงานของ Alexander McQueen (1969 – 2010) ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนใน The Met ผู้คนจำนวนมากยอมเข้าแถวรอกว่า 2 ชั่วโมงเพื่อจะได้เข้าชมงาน จนพิพิธภัณฑ์ต้องเพิ่มมาตรการพิเศษเพื่อรักษาความปลอดภัย รวมถึงการขายตั๋วพิเศษได้มากกว่า 17,000 ใบ ในราคาใบละ 50 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,700 บาท) สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมในวันจันทร์ซึ่งปกติเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 1971 (The Met เปลี่ยนมาเปิดทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม 2013)
ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2013 ซึ่งเป็นอาทิตย์สุดท้ายของงานที่ขยายเวลาจากวันที่ 31 กรกฎาคม 2013 เนื่องจากยังมีผู้ต้องการเข้าชมงานอีกเป็นจำนวนมาก ผู้คนต้องเข้าแถวรอกว่า 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะสองวันสุดท้ายของงาน วันอังคารที่ 6 และพุธที่ 7 สิงหาคม 2013 ทางพิพิธภัณฑ์ต้องขยายเวลาเปิดบริการไปถึงเที่ยงคืนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
นิทรรศการ Alexander McQueen: Savage Beauty มีผู้เข้าชมมากกว่า 650,000 คน กลายเป็นหนึ่งในงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของพิพิธภัณฑ์ มีคนกว่า 23,000 คนยอมสมัครสมาชิกเพื่อที่จะได้สิทธิ์ในการเข้าชมในแถวของสมาชิกซึ่งสั้นกว่าแถวของคนทั่วไป นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังสามารถขาย Alexander McQueen: Savage Beauty หนังสือแคตตาล็อกของนิทรรศการไปได้มากกว่า 100,000 เล่ม
ตัวสารคดี THE FIRST MONDAY IN MAY จะติดตามการทำงานของ Andrew Bolton ที่ต้องการจัดงานนิทรรศการ China: Through the Looking Glass ซึ่งหลังจากงานของ Alexander McQueen: Savage Beauty ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนทำให้สื่อต่างๆ ชอบนำงานนิทรรศการของ Costume Institute ที่จัดขึ้นภายหลังไปเปรียบเทียบกับงาน Savage Beauty ทั้งที่แต่ละงานต่างก็มีธีมและเอกลักษณ์
Wong Kar Wai ผู้กำกับชื่อดังชาวฮ่องกงเจ้าของผลงานภาพยนตร์ In the Mood for Love ได้รับเชิญให้มาเป็นผู้ดูแลภาพรวมขององค์ประกอบศิลป์ทั้งหมดในงาน เขายังเป็นคนเลือกเพลง สร้างและตัดต่อวิดีโอที่จะใช้ประกอบในงานนิทรรศการ ที่จัดแสดงเครื่องแต่งกายจากนักออกแบบชาวจีน และนักออกแบบชื่อดังที่ได้แรงบันดาลใจมาจากจีน มากกว่า 140 ชุด รวมถึงงานศิลปะและวัตถุโบราณของจีน
ทุกอย่างต้องใช้เวลาเตรียมการล่วงหน้ามากกว่าครึ่งปี Anna Wintour เป็นผู้ดูแลทุกด้านของงาน Gala เธอเป็นคนกำหนดจำนวนแขกที่จะได้รับเชิญมางาน จากปีที่แล้ว 608 คน เธอสั่งลดจำนวนให้เหลือ 500 คน เธอเป็นคนอนุมัติทุกสิ่งตั้งแต่ผ้าเช็ดปาก จานชามช้อนส้อมมีด ไปจนถึงสีของผ้าปูโต๊ะ รายละเอียดชนิดของดอกไม้ประดับ เธอยังเป็นคนกำหนดที่นั่งของแขกเกือบทุกคนในงาน Met Gala อีกด้วย ทีมงานของ Vogue ต้องตัดสินใจเลือกว่าใครควรนั่งข้างใคร จากข้อมูลหลายด้าน อาทิ พวกเขาเคยนั่งข้างกันในปีก่อนหรือไม่ พวกเขาเคยนั่งข้างกันในงานอื่นหรือเปล่า
Guo Pei (郭培) เป็นหนึ่งในศิลปินชาวจีนที่ถูกเลือกนำผลงานมาแสดงในงานนี้ ชื่อเสียงของเธอโด่งดังไปทั่วโลกด้วยชุดราตรียาวสีเหลือง Rihanna ใส่เดินพรมแดงในงาน Met Gala ปี 2015 เป็นขุดที่มีน้ำหนัก 25 กิโลกรัมและใช้เวลาทำถึง 6 เดือน
ปี 2013 Met Gala ระดมทุนได้ 9 ล้านเหรียญ, ปี 2014 ระดมทุนได้ 12 ล้านเหรียญ, ปี 2015 ระดมทุนได้ 12.5 ล้านเหรียญ ถ้านับรวมตั้งแต่ปี 1995 ที่ Anna Wintour เข้ามาเป็นประธานจัดงาน จนถึงปี 2019 งาน Met Gala สามารถระดมทุนรวมทั้งหมดได้มากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
China: Through the Looking Glass เปิดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม – 7 กันยายน 2015 เป็นนิทรรศการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้เข้าชมมากกว่า 800,000 คน กลายเป็นนิทรรรศการที่มีผู้ชมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของ The Metropolitan Museum of Art
สารคดี THE FIRST MONDAY IN MAY ฉายครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์ Tribeca วันที่ 13 เมษายน 2016 และได้เปิดฉายในโรงภาพยนตร์แบบจำกัดในสหรัฐอเมริกาวันที่ 15 เมษายน 2016