Mahler′s Titan
2011 | Dariusz Mikulski
กลับมาอีกครั้งกับคอนเสิร์ตของ Thailand Philharmonic Orchestra ควบคุมวงโดย Dariusz Mikulski โดยในครั้งนี้มีไฮไลท์เป็น Symphony No. 1 in D major หรือที่รู้จักกันในชื่อ Titan ประพันธ์ขึ้นในช่วงปี 1884 – 1888 โดย Gustav Mahler และการแสดงของดับเบิลเบสโซโลอิสท์ Gunārs Upatnieks จากประเทศ Latvia
เปิดการแสดงด้วยบทเพลงเทพนิมิตร ๓ ชั้น ซึ่งแต่เดิมเป็นเพลงเรื่องนางหงส์ อันเป็นเพลงชุดอัตรา ๒ ชั้นที่รวมเพลงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ เพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงสาวสอดแหวน เพลงสุดแสนสวาท และเพลงแมลงวันทอง เพลงเรื่องนางหงส์นี้ในอดีตใช้บรรเลงประโตมศพมาก่อน ต่อมาได้มีการแต่งขยายทำนองให้เป็นเพลงอัตรา ๓ ชั้น มีการแทรกทำนองให้มีลูกขัดลูกล้อ มีจังหวะสนุกสนานตลอดทั้งเพลง กลายเป็นเพลงดัดแปลงที่ปรุงแต่งไกลจากแนวต้นฉบับเดิม และได้เปลี่ยนชื่อเป็นเพลงเทพนิมิตร เพื่อปิดบังว่ามีต้นกำเนิดมาจากเพลงนางหงส์
เพลงลำดับต่อมาเป็น Concerto No. 2 in B minor for Double Bass and Orchestra ของนักประพันธ์เพลงชาวอิตาเลียน Giovanni Bottesini เขาเป็นคนมีพรสวรรค์อย่างสูงตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อครอบครัวของเขาไม่สามารถส่งให้เขาเรียนใน Milan Conservatory เขาจึงต้องการชิงทุนการศึกษา ซึ่งในขณะนั้นมีเพียง 2 ทุนที่เปิดรับสมัครอยู่ คือ Double Bass และ Bassoon เขาใช้เวลาเตรียมตัวเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็สามารถชิงทุนของ Double Bass ได้ และหลังจากนั้นเพียง 4 ปี เขาก็จบการศึกษา พร้อมกับเงินรางวัล 300 ฟรังค์ ที่เขานำไปซื้อ Double Bass ฝีมือของ Carlo Antonio Testore
เขาปฎิวัติการเล่นเบสอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โดยการเล่นเพียงสามสาย แทนที่จะเป็นสี่สายตามธรรมดา และเปลี่ยนวิธีจับคันชักด้วย การเปลี่ยนเทคนิคการเล่นของเขาส่งผลถึงการเปลี่ยนบทประพันธ์ด้วย เขาได้รับสมญานามว่า Paganini of Double Bass (Niccolò Paganini เป็นนักประพันธ์และนักไวโอลิน ชาวอิตาเลียนซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคนิคการสีไวโอลินแบบใหม่) ดังที่ศิลปินร่วมสมัยกับเขาหลายคนกล่าวว่า “เขาเล่นเสียงซ้อนเหมือนกันเสียงฟลูตได้อย่างน่าอัศจรรย์ ราวกับซ่อนนกไนติงเกลไว้ในดับเบิลเบสนับร้อยตัว” (How he bewildered us by playing all sorts of melodies in flute-like harmonics, as if he had a hundred nightingales caged in his double bass!” ด้านงานประพันธ์เพลงของเขาก็ได้รับความชื่นชมจากศิลปินร่วมสมัย ยกย่องการสร้างประโยคเพลงกับทำนองที่สว่างไสวเจิดจ้าราวกับพลุ
Bottesini: Concerto No. 2 III. Allegro เล่นโดยวง hr-Sinfonieorchester
ลำดับต่อมาเป็น Soloist โดย Gunārs Upatnieks เล่นเพลง Bass Trip ผลงานประพันธ์ของ Pēteris Vasks ชาวลัตเวียน มีความน่าใจอย่างมากโดยเฉพาะช่วงท้ายของเพลงที่มีการใช้เสียงผิวปากมาร่วมการการเล่น Double Bass ด้วย
ลำดับสุดท้ายของการแสดง และไฮไลท์ของงานนี้ Symphony No. 1 in D major “Titan” ผลงานของ Gustav Mahler โดยบทประพันธ์นี้แบ่งออกเป็น 4 movements (แต่เดิมมี 5 movements ภายหลังได้มีการปรับเป็น 4)
I. Langsam. Schleppend. Wie ein Naturalaut
II. Kräftig bewegt, doch nicht zu schnell
III. Feierlich und gemessen, ohne zu schleppen
IV. Stürmisch bewegt
สำหรับเวอร์ชันที่หยิบมาให้ลองฟังกันคือมูฟเมนท์แรก I. Langsam. Schleppend. Wie ein Naturalaut เล่นโดย Chicago Symphony Orchestra ควบคุมวงโดย Sir Georg Solti บันทึกเสียงในปี 1981