NOTRE-DAME BRÛLE
NOTRE-DAME ON FIRE
Jean-Jacques Annaud
(2022)
วันที่ 15 เมษายน 2019 ในกรุงปารีส เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนใหม่เดินทางมาเข้างานวันแรกที่ Cathédrale Notre-Dame de Paris (อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส) เหล่าพนักงานก่อสร้างก็ขึ้นไปทำงานตามปกติ นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมาชมวิหารแห่งนี้มีจำนวนมากถึง 30,000 คนต่อวัน (12-14 ล้านคนต่อปี)
ช่วงเวลา 18.17น. สัญญาณเตือนอัคคีภัยดังขึ้น แต่มันก็ไม่ได้สร้างความแตกตื่นให้กับพนักงานในวิหารเก่าแก่ พวกเขาต่างคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดหรือระบบขัดข้องจากสายไฟเก่าซึ่งมันมักจะหยุดไปเอง อย่างไรก็ตาม เขาก็ขึ้นไปตรวจสอบจุดที่เจ้าหน้าที่แจ้งและกลับลงมาโดยที่ไม่พบอะไร แต่สิ่งที่พวกเขายังไม่รู้ก็คือตำแหน่งที่เพลิงกำลังไหม้เป็นจุดที่อยู่สูงขึ้นไปอีก
เวลาผ่านไปเกือบ 18 นาที สัญญาณเตือนอัคคีภัยก็ยังคงส่งเสียงดังอยู่ หัวหน้าจึงขอรหัสตำแหน่งที่ระบบเตือนว่าเกิดไฟไหม้และสั่งให้เจ้าหน้าที่กดปุ่มเพื่อปิดมัน แต่หลังจากที่หัวหน้าตรวจสอบรหัสตำแหน่ง เขาก็รีบโทรกลับมาแจ้งให้พนักงานไปตรวจสอบจุดที่เกิดไฟไหม้ซึ่งเป็นบริเวณห้องใต้หลังคาส่วนกลางของวิหารที่สร้างขึ้นจากไม้โอ๊กโบราณขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี
ประชาชนเริ่มสังเกตเห็นควันพวยพุ่งออกมลจากวิหาร ต่างคนก็หยิบโทรศัพท์มือถือออกมาถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ หลายคนโทรแจ้งหน่วยดับเพลิงไปจนถึงสำนักงานนายกเทศมนตรีกรุงปารีสที่สามารถมองเห็นควันไฟ แต่พวกเขาก็แทบไม่เชื่อสายตา ไม่มีใครคาดคิดว่า Notre-Dame de Paris จะเกิดไฟไหม้ได้
หน่วยดับเพลิง Caserne Poissy ที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ออกปฏิบัติงานเวลา 18.51น. พวกเขาต้องใช้เวลาฝ่าการจราจรยามเย็นของปารีสเกือบ 15 นาทีกว่าจะไปถึงจุดหมาย ทั้งที่อยู่หน่วยของพวกเขาอยู่ห่างจากวิหารเพียงแค่ 850 เมตร
แต่พนักงานดับก็ประสบปัญหาหลายอย่าง พวกเขาไม่สามารถเข้าไปดับไฟที่ต้นเพลิงลุกไหม้มานานกว่า 1 ชั่วโมงซึ่งมีอุณหภูมิสูงเกินกว่าที่ชุดป้องกันไฟจะทนไหว ทางเดินขึ้นหอคอยอันคับแคบ ท่อส่งน้ำของวิหารเก่าแก่ก็ผุพังไปตามกาลเวลาทำให้ไม่สามารถรองรับแรงดันน้ำมหาศาลที่ต้องใช้ส่งน้ำขึ้นไปเพื่อดับไฟ
สิ่งที่สำคัญกว่าตัวอาสนวิหารก็คือศิลปะวัตถุโบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้มากกว่า 1,300 ชิ้น รวมถึง Sainte Couronne / Couronne d’épines หรือมงกุฏหนามซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอายุเกือบสองพันปี เป็นสิ่งที่นักรบโรมันสวมให้กับพระเยซูหลังจากที่พระองค์ถูกจับตรึงกางเขน ช่วงคริสตศักราช 30-33 (ปัจจุบันมงกุฎหนามถูกเก็บรักษาไว้ที่ Musée du Louvre)
Jean-Jacques Annaud ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสถ่ายทอดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาสนวิหาร Notre-Dame ได้อย่างน่าทึ่งด้วยภาพยนตร์ที่ใช้การเดินเรื่องแบบสารคดี โดยไม่มีตัวละครพระเอกหรือนางเอก
ภาพของเพลิงไหม้ก็เป็นภาพฟุตเทจจริงที่ตัวผู้กำกับเปิดเว็บไซต์ขอให้ผู้ที่ถ่ายวิดีโอเหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งไฟล์เข้าไปเพื่อนำมาใช้ในภาพยนตร์ ตัดสลับกับภาพของนักดับเพลิงซึ่งเป็นนักแสดงในฉากที่ถ่ายทำกันในวิหารหลายแห่งที่มีลักษณะภายในคล้ายกับ Notre-Dame อาทิ Bourges, Notre-Dame d’Amiens และ Saint-Étienne เนื่องจากอาสนวิหารจริงกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม
บทภาพยนตร์ที่ผู้กำกับเขียนร่วมกับ Thomas Bidegain นักเขียนบทชาวฝรั่งเศส (CODA, Stillwater, LA FAMILLE BÉLIER, UN PROPHÈTE) สอดแทรกความลุ้นระทึกตื่นเต้นและความดรามา ดึงอารมณ์ร่วมจากผู้ชม ให้รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์เดียวกับนักดับเพลิง
NOTRE-DAME BRÛLE เข้าฉายในประเทศฝรั่งเศสวันที่ 16 มีนาคม 2022 และเข้าฉายในประเทศไทยวันที่ 14 กรกฎาคม ด้วยชื่อภาษาไทยว่า ภารกิจกล้า ฝ่าไฟนอเทรอดาม