千と千尋の神隠し
SPIRITED AWAY
宮崎駿
Hayao Miyazaki
(2001)
千と千尋の神隠 (เซ็นโตะชิฮิโระโนะคามิคาคุชิ) เป็นการผจญภัยของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่มีทั้งอาวุธหรือสงครามใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของความถูกต้องหรือความไม่ถูกต้อง มันเป็นเรื่องราวของเด็กน้อยคนหนึ่งที่หลุดเข้าไปในโลกที่ความดีและความชั่วร้ายผสมปนเปอยู่ด้วยกัน
ณ ที่แห่งนั้นเธอได้เรียนรู้ถึงประสบการณ์ใหม่ ได้เรียนรู้ถึงมิตรภาพและความทุ่มเท ต้องใช้สมองเพื่อที่จะอยู่รอด ต้องผ่านฝ่าฟันอุปสรรคนานับประการเพื่อที่จะหาทางกลับมา และเธอก็ทำได้ แต่ไม่ใช่เพราะว่าเธอได้ทำลายความชั่วร้ายไป แต่หากเป็นเพราะเธอได้พบกับความสามารถ ที่จะอยู่รอด
ABOUT THE FILM
ใน DVD ของ region 1 แผ่นที่หนึ่ง จะมีการเกริ่นนำโดย John Lasseter (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Pixar มีผลงานกำกับเป็นที่รู้จักจากเรื่อง Toy Story, A Bug’s Life, Toy Story 2, และ Cars นอกจากนี้ยังนั่งแท่น Executive Producer ของ Monsters, Inc., Finding Nemo, The Incredibles และดูแลควบคุมภาคภาษาอังกฤษของ 千と千尋の神隠し และ ハウルの動く城 ) มาพูดถึงความประทับใจและความมหัศจรรย์ของ Spirited Away
“ครั้งแรกที่ผม ได้ชมภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ มันก็เป็นช่วงแรกเลย ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายในญี่ปุ่น และมันฉายแบบมี subtitle เป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นด้วย แต่ผมก็รู้สึกทึ่งอย่างบอกไม่ถูก ภาพยนตร์เรื่องนี้มหัศจรรย์อย่างมาก นักเขียนบท, ผู้กำกับฝีมือเยี่ยม และเพื่อนที่ดีของผม ฮายาโอะ มิยาซากิ ได้สร้างผลงานที่เยี่ยมยอด ผมคิดว่ามันเป็นงานที่ดีที่สุดของมิยาซากิ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ชิฮิโระ เด็กที่ดูเหมือนเป็นคนที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ และค่อนข้างเก็บตัว หลังจากนั้นเธอก็เติบโตขึ้นทั้งทางอารมณ์และจิตใจอย่างมาก ผ่านการดำเนินเรื่องและโลกที่เธอหลังเข้าไปอยู่นั้น มันช่างงดงามมหัศจรรย์ ไม่เหมือนโลกใดที่คุณเคยสัมผัสมาก่อน ท้ายสุดนี้ผมก็ขอให้คุณมีความสุขกับการชมภาพยนตร์เรื่องนี้”
ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้เป็นผลงานของ 宮崎駿 (มิยาซากิ ฮายาโอะ) มีจุดสำคัญอยู่ที่โรงอาบน้ำที่เทพและวิญญาณของญี่ปุ่น มิยาซากิกล่าวว่า เขามีความประทับใจกับโรงอาบน้ำตั้งแต่สมัยที่เขายังเด็ก และเขาต้องการสร้างสถานที่ที่แปลกๆขึ้นมาในภาพยนตร์ของเขา แล้วเขาก็คิดว่าโรงอาบน้ำสำหรับเทพเจ้าคงจะเป็นอะไรที่แปลกและน่าสนใจมาก เขาคิดว่าเทพต่างๆ ก็คงจะเดินทางไปผ่อนคลายที่น้ำพุร้อน หรือ สถานที่พักผ่อนเมื่อจิตเกิดอ่อนล้า เหมือนกับที่มนุษย์เราทำกัน และนี่ก็เป็นเหตุผลหลักที่มิยาซากิใช้โรงอาบน้ำเป็นหลักในเรื่องนี้
มิยาซากิกล่าวว่าในสมัยอดีตนั้น พวกเราเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีเทพและวิญญาณสถิตย์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ แม่น้ำ แมลง บ่อน้ำ และในทุกๆ ที่ แต่ในปัจจุบันผู้คนกลับเลิกเชื่อสิ่งเหล่านั้น แต่เขาก็ยังคงชอบความคิดที่ว่าเราควรทนุถนอมทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะมันมีชิวิตอยู่ภายในสิ่งเหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นของ 千と千尋の神隠し
STORY
ครอบครัวของ 千尋 (ชิฮิโระ) กำลังอยู่ระหว่างการย้ายมาอยู่ที่เมืองอีกเมืองหนึ่ง เด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบ ดูจะไม่ค่อยพอใจนัก เพราะต้องจากเพื่อนๆ ที่เล่นสนุกด้วยกันมา ระหว่างทางพ่อของชิฮิโระ ตัดสินใจใช้ทางลัดที่เขาไม่รู้จัก เพียงแต่คิดว่าตัดผ่านไปน่าจะไปถึงได้เร็วกว่า กลับพบว่ารถของพวกเขามาจอดในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรูปปั้นหินประหลาดวางอยู่ด้านหน้า อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นช่องประตูที่มืดมิดเหมือนอุโมงค์
เมื่อชิฮิโระก้าวเข้าไปใกล้ มีลมดูดพัดพาใบไม้ปลิวเข้าไปในประตูที่มืดมิดนั้น เธอรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่น่ากลัว อาจจะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่มักจะกลัวสิ่งที่ไม่รู้จักและไม่เคยเห็น แม้ว่าเธอจะพยายามโน้มน้าวพ่อแม่ของเธอไม่ให้เข้าไป แต่ก็ไม่สำเร็จ ท้ายที่สุดเธอก็ต้องเดินตามเข้าไปด้วย
อีกด้านหนึ่งนั้นเป็นทุ่งกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา มีสิ่งปลูกสร้างที่ดูเหมือนถูกทิ้งให้ร้างมานาน พ่อและแม่ของชิฮิโระได้กลิ่นอาหาร จึงเดินตามกลิ่นไปจนเข้ามาในเมืองที่ปราศจากผู้คน มีเพียงอาหารตั้งอยู่ ทั้งสองคนเริ่มลงมือรับประทานทันที โดยไม่สงสัยว่าอาหารนี้มาจากไหน เพราะคิดว่าเจ้าของร้านคงไปธุระแถวนั้น และพวกเขาก็จะสามารถจ่ายเงินได้เมื่อเจ้าของร้านกลับมา
ชิฮิโระจึงออกไปเดินสำรวจรอบๆ และได้เห็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ที่นี่เธอได้พบกับเด็กผู้ชายปริศนาที่ดูเหมือนประหลาดใจที่ได้เห็นเธอ เขาบอกให้เธอรีบออกไปจากที่นี่ก่อนที่ฟ้าจะมืด ชิฮิโระแปลกใจแต่ก็ทำตามที่เด็กผู้ชายบอก แต่เมื่อเธอกลับไปถึงที่ที่พ่อแม่เธอเคยนั่งอยู่ ทั้งสองก็กลายเป็นหมูไปเสียแล้ว
ด้วยความช่วยเหลือของ ハク (ฮากุ) ทำให้เธอได้พบกับ 釜爺 (คามาจิ) ผู้คุมห้องต้มน้ำ, リン (ลิน) สาวที่ทำงานในโรงอาบน้ำ, และ 湯婆婆 (ยูบาบะ) แม่มดผู้มีพลังอำนาจสูงสุดในโรงอาบน้ำ ในที่สุดชิฮิโระ ก็ได้ทำงานที่โรงอาบน้ำแห่งนี้ ที่จะเป็นทางรอดทางเดียวของเธอ และหาหนทางที่จะช่วยพ่อแม่ของเธอให้กลับมาเป็นคนอีกครั้ง เมื่อชิฮิโระเซ็นสัญญาตกลงกับยูบาบะ ยูบาบะก็ได้ดึงส่วนหนึ่งของชื่อของชิฮิโระออกไป เหลือเพียงแต่คำว่า (千) เซ็น ― มีความเชื่อว่าถ้าคนเราถูกเอาชื่อไปก็จะเหมือนถูกเอาวิญญาณไป ในที่นี้ก็เหมือนกัน เมื่อชิฮิโระโดนยูบาบะเอาชื่อไปทำให้ความทรงจำของเธอเริ่มหายไป และค่อยๆ ลืมตัวตนที่แท้จริงของตัวเองช้าๆ อย่างไม่รู้ตัว
ภายหลังชิฮิโระได้ทราบว่าฮากุก็เป็นเหมือนเธอคือถูกยูบาบะใช้งาน ในครั้งนี้ยูบาบะได้ใช้ให้ฮากุไปขโมยตราประทับของ 銭婆 (เซนิบะ) พี่สาวฝาแฝดของเธอ จนได้รับบาดเจ็บจากมนตร์ ที่ใช้ป้องกันตราประทับ
ชิฮิโระจึงต้องเดินทางกลับไปหาเซนิบะ พร้อมกับผู้ติดตามที่น่ารักทั้งสาม かおなし (คาโอนาชิ) ซึ่งกลับร่างเดิม ด้วยความช่วยเหลือของชิฮิโระ ลูกของยูบาบะที่ถูกสาปให้เป็นหนู และนกตัวเล็กหน้าตาตลก ทั้งหมดค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจถึงชีวิต ความรักและมิตรภาพ ผ่านการเดินทางอันแสนมหัศจรรย์
Theatrical Release
千と千尋の神隠し ออกฉายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น วันที่ 20 กรกฎาคม 2001 ภายใต้ลิขสิทธิ์ของ Toho ตัวภาพยนตร์อนิเมะได้รับความชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลก กวาดรายได้ไปมากกว่า 395 ล้านเหรียญ โดยในประเทศญี่ปุ่นก็สามารถทำรายได้ไปถึง 31,680 ล้านเยน สร้างประวัติศาาตร์กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุด อย่างที่ไม่มีภาพยนตร์เรื่องอื่นสามารถล้มได้เป็นเวลาถึง 19 ปี จนกระทั่งสถิติถูกโค่นลงโดย 劇場版「鬼滅の刃」無限列車編 (DEMON SLAYER THE MOVIE — MUGEN TRAIN) ในปี 2020
SPIRITED AWAY มักจะถูกอ้างถึงในฐานะหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 รวมถึงหนึ่งในภาพยนตร์แอนิเมชันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกตั้งแต่มีการสร้างมา เนื่องจากการสร้างประวัติศาสตร์คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชัน จากงานประกาศรางวัล Academy Awards ครั้งที่ 75 ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ออสการ์ ที่ภาพยนตร์แอนิเมชันวาดมือและไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษสามารถคว้ารางวัลนี้ได้
ABOUT DVD
หน้า main menu ของ region 1 (US) / region 4 (Australia) / region 2 (France) โดยของ region 1 จะมีส่วนที่เป็น special features และ trailers อยู่ในแผ่นแรกด้วย
หน้า chapter selection ของ region 1 (US) / region 4 (Australia) / region 2 (France)
ในแผ่นที่ 1 ของฝรั่งเศสจะมีตัวอย่างของ Le château ambulant ด้วย ซึ่งก็คือ ハウルの動く城 (ฮาอุรุ โนะ อุโกคุ ชิโระ howl’s moving castle) ภาพยนตร์ animation เรื่องล่าสุดของ Studio Ghibli ที่กวาดรายได้ถล่มทลายในญี่ปุ่นและได้รับคำชื่นชม จากนักวิจารณ์ทั่วโลก
หน้าปกแบบของ US (region 1) หน้าปกแบบของ Australia (region 4) และหน้าปกแบบของฝรั่งเศสแบบ Edition Collector (region 2) // หน้าปกของ US จะเหมือนหน้าปกแบบ version ธรรมดาของฝรั่งเศส มีแปะรางวัลการันตีถึงคุณภาพถึงอย่าง Best Animated Features จาก National Board of Review, Best Animated Film จาก New York Film Critics Circle และ Golden Bear Award Best Picture จากงานเทศกาลภาพยนตร์เบอลินครั้งที่ 52 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์แอนิเมชันได้รับรางวัลนี้ // หน้าปกของ Australia เป็นหน้าปกที่ทำขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นปกของ Limited Edition ที่ทำเป็น Digipack // édition collector ของฝรั่งเศสก็เป็น digipack แต่มีแค่ทบเดียวเท่านั้น
ตัวแผ่นและด้านในของแผ่น region 2 (france) และ region 1 (u.s.a.)
ตัวแผ่นและด้านในของแผ่น region 4 (Australia) เมื่อเปิดออกมาจะเห็นภาพพื้นน้ำสีฟ้า เห็นแสงไฟจากเมืองระยิบระยับ เป็นมุมมองของชิฮิโระจากฝั่งของโรงอาบน้ำนั่นเอง โดยตัวแผ่น DVD ก็ทำการพิมพ์ภาพให้เข้ากับพื้นหลังเป็นหนึ่งเดียวกัน
อีกด้านหนึ่งพิมพ์เป็นรูปด้านหน้าของโรงอาบน้ำ
collector box ของแม่สาย ที่ลอกแบบของฝรั่งเศสมา เป็นพลาสติคสวมทับกล่องไม้ลงเงาสีดำ ด้านในเป็นกล่องไพ่
ข้อมูลของแผ่น DVD
ประเภท: Animation
แหล่งที่มา: อเมริกา / ออสเตรเลีย / แม่สาย (FR)
ราคา: $22.49 / $AU36.95 / 550 บาท
ความจุของแผ่น: USแผ่นที่ 1: 7.77G / USแผ่นที่ 2: 4.33 / AUแผ่นที่1 : 7.63G / AUแผ่นที่ 2 : 6.82G / FRแผ่นที่1 : 7.93G / FRแผ่นที่2 : 7.89G
ความยาว: 2 ชั่วโมง 5 นาที
video: US&AUS Widescreen 2.0:1 / FR Widescreen 1.85:1
audio: US: ภาษาอังกฤษ 5.1, ภาษาญี่ปุ่น 5.1, และ ฝรั่งเศส 2.0 / AU: ภาษาอังกฤษ 5.1, ภาษาญี่ปุ่น 5.1 และภาษาญี่ปุ่น DTS / แม่สาย (FR): จีน 5.1, ญี่ปุ่น 5.1 และ ญี่ปุ่น DTS
subtitle: US&AUS : ภาษาอังกฤษ / FR (แม่สาย) : จีน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, ญี่ปุ่น
special features:
US
Introduction by John Lasseter เกริ่นนำเรื่องความยาว 1 นาที / The Art of Spirited Away เป็น Documentary ของอเมริกาความยาว 15 นาที / Traliers ของ Disney / Behind The Microphone เป็นเบื้องหลังการให้เสียงภาษาอังฤษ ความยาว 5 นาที 40 วินาที / Select Storyboard-To-Scene Comparison ความยาว 10 นาที 36 วินาที เป็นภาพร่างทั้งหมด พร้อมกับเสียงที่สามารถเลือกได้ว่าจะฟังภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่น / Nippon Television Special เบื้องหลังการถ่ายทำความยาว 42 นาที / Original Japanese Trailers เป็นโฆษณาของญี่ปุ่น ทั้งหมดมี 22 แบบความยาวรวม 30 นาที
AU
Making of Spirited Away เบื้องหลังการถ่ายทำที่จัดทำโดย Nippon Television ความยาว 42 นาที / Storyboard Comparison เปรียบเทียบระหว่างภาพร่างและภาพที่จัดทำเสร็จเรียบร้อยทั้งหมด 5 ฉาก โดยสามารถ เลือกชมได้ว่าจะรับชม Storyboard หรือภาพจริงสลับไปมาหรือ ชมแบบทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกัน โดยแบ่งหน้าจอออกเป็นสองส่วน / Themes of Spirited Away บทความอธิบายความเป็นมาของ Theme ต่างๆ ที่ใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย โรงอาบน้ำ อาบุรายะ, ความเชื่อทางศาสนาของญี่ปุ่น, ความหมายของชื่อชิฮิโระ และตัวเอกที่เป็นผู้หญิง ในผลงานที่ผ่านมาของมิยาซากิ / Trailers and TV Spots ประกอบด้วยของญี่ปุ่น อเมริกาและฝรั่งเศส / Image Gallery ประกอบไปด้วยภาพนิ่งที่ใช้ประกอบในเรื่อง และส่วนที่เป็นโปสเตอร์ของเรื่องนี้ในประเทศต่างๆเช่น อเมริกา (Spirited Away) ญี่ปุ่น (千と千尋の神隠) ฝรั่งเศส (Le Voyage de Chihiro) ฟินแลนด์ (Henkien Katkema) อิตาลี (La Citta Incantana) สเปน (El Viaje de Chihiro) เมกซิโก (A Viagem de Chihiro) และรัสเซีย (Унесенные призраками) / Study Guide เป็น PDF file ที่จัดทำขึ้น โดยใช้แนวทางการทำงานของมิยาซากิมาเป็นตัวอย่างศึกษา
FR
L’univers musical de Joe Hisaishi สัมภาษณ์ความหัศจรรย์ของดนตรีจากฝีมือ Joe Hisaishi ความยาว 34 นาที / La philosophie du studio Ghibli ปรัชญาของ studio Ghibli ความยาว 11 นาที / Making-of เบื้องหลังการทำงาน 42 นาที / Le Musée Ghibli เดินชมพิพิธภัณฑ์ ความยาว 8 นาที / Comparaison du Film au Story-board เปรียบเทียบระหว่างภาพร่าง และภาพที่จัดทำเสร็จเรียบร้อย สามารถเลือกฟังเสียงญี่ปุ่น หรือฝรั่งเศสได้ ความยาว 2 ชั่วโมง 5 นาที คือดูได้ทั้งเรื่องตั้งแต่ฉากเปิดจนถึงจบ / Promotion แบ่งออกเป็น Bandes Announces ตัวอย่างหนัง 10 แบบ TV Spots โฆษณาโทรทัศน์ 12 แบบ และ Galeries ภาพที่ใช้ในการโปรโมตหนัง
Nippon TV Special : The Making of
มันเป็นระยะเวลากว่า 4 ปีจากผลงานเรื่อง もののけ姫 (โมโนโนเกะ ฮิเมะ) ผลงานเรื่อง 千と千尋の神隠し (เซ็นโตะชิฮิโระ โนะ คามิคาคุชิ) ก็ออกสู่สายตาสาธารณะชน ตัวเอกของเรื่องนี้ ก็คือชิฮิโระ เด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบ ที่มีลักษณะเป็นเด็กที่เนือยๆ และไม่ค่อยชอบสุงสิงกับใคร ชิฮิโระเป็นตัวละครที่สร้างมาจากบุคคล ที่มีชีวิตอยู่จริง เด็กผู้หญิงที่เป็นแบบหลักให้ตัวละครหลักชิฮิโระ ก็คือลูกสาวของเพื่อนสนิทของมิยาซากิ มิยาซากิมีบ้านพักอยู่บนเขาในชินจู ที่เขามักจะเชิญเพื่อนของเขาและลูกสาวมาพักในช่วงฤดูร้อนของทุกปี มิยาซากิกล่าวว่า “มาจนถึงปัจจุบันนี้ ผมยังไม่เคยสร้างภาพยนตร์ เพื่อเด็กผู้หญิงอายุ 10 ขวบเลย แน่นอนว่าในตอนนี้เธอดูมีความสุขและมีพลังอย่างมาก แต่ว่าเมื่อเธอต้องค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมาในโลกใบนี้ เธอจะสามารถรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ได้หรือเปล่า?” สิ่งนี้กลายเป็นเหตุผลหลักที่มิยาซากิตัดสินใจที่จะทำภาพยนตร์เรื่องนี้ มิยาซากิกล่าวว่า “ผมจะทำภาพยนตร์เพื่อเด็กคนนี้” และเนื่องจากคนที่เป็นต้นแบบให้ตัวละครของมิยาซากิอายุ 10 ขวบ ตัวละครหลักจึงมีอายุ 10 ขวบเท่ากัน
เมื่อพ่อและแม่ของเด็กผู้หญิง ที่เป็นต้นแบบได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก พวกเขาต่างประหลาดใจอย่างมาก ที่มิยาซากิสามารถจับเอาจิตวิญญาณของลูกสาวของพวกเขามาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม่ของเด็กผู้หญิงถึงกลับกล่าวว่า มิยาซากิได้ศึกษาสังเกตลูกสาวของเรามาโดยตลอด ซึ่งในความจริงแล้ว ตัวละครทุกตัวของมิยาซากิได้แรงบันดาลใจมาจากคนที่มีชีวิตจริงๆ อย่างเช่นキキ(Kiki) จากเรื่อง 魔女の宅急便 (มาโจ โนะ ทักคิวยุบิน / Kiki’s Delivery Service) ก็มาจากลูกสาวอายุ 13 ปีของซูซูกิผู้เป็น Producer ในเรื่องนั้น
พ่อของชิฮิโระก็มาจาก พ่อจริงๆ ของเด็กผู้หญิง ที่เป็นต้นแบบ โดยตัวละครตัวนี้ก็มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับคนที่เป็นต้นแบบเช่น มักจะขับรถหลงทาง (อย่างที่เห็นในช่วงแรก) หรือการที่เป็นคนที่กินอาหารอย่างไม่ค่อยจะมีมารยาท ออกจะมูมมามในบางครั้ง ส่วนตัวละครแม่ของชิฮิโระ ก็มาจากทีมงานคนหนึ่งของ Studio Ghibli ซึ่งก็จะมีลักษณะที่เหมือนกับตัวละครต้นแบบ ตรงที่เวลาที่เธอทานอาหาร เธอจะพับข้อศอกแขนตั้งตรงซึ่งเป็นลักษณะนิสัยเฉพาะส่วนตัวอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่าทุกคนที่เข้ามาอยู่ในรัศมี 10 ฟุตรอบตัวมิยาซากิ ก็อาจกลายเป็นแบบให้ตัวละครตัวหนึ่งของมิยาซากิในวันข้างหน้า ก็ดูจะไม่เกินความจริงไปเลย
เมืองไร้ผู้คนที่แปลกประหลาดที่เป็นฉากสำคัญในช่วงแรก ก็มาจากสถานที่ที่มีอยู่จริง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงสถาปัตยกรรม เอโดะ-โตเกียว ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับ Studio Ghibli ที่เป็นสถานที่แสดงสถาปัตยรกรรม ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายปี 1700 จนถึงกลาง 1990 และเปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชม มิยาซากิชอบที่นี่มากและมักจะมาเสมอเมื่อมีเวลา ในเรื่อง ชิฮิโระหลงเข้าไปในเมืองที่ซ่อนอยู่และไม่มีใครเคยพบ เป็นเหมือนจักรวาลที่อยู่คู่ขนานกัน ในที่นี้คือเมืองของญี่ปุ่น ในอดีตนั่นเอง
Studio Ghibli ตั้งอยู่ที่เมือง Koganei ที่อยู่รอบนอกของโตเกียว ที่ที่ผลงานระดับ masterpiece หลายชิ้นถูกสร้างขึ้น รวมถึง もののけ姫 (โมโนโนเกะ ฮิเมะ) ด้วย ฝ่ายอนิเมะที่เป็นกุญแจสำคัญของการสร้างภาพยนตร์ ที่จะต้องวาดภาพจำนวนมหาศาล กว่าจะออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวให้เราได้ชมกัน มือของช่างศิลป์ผู้เชี่ยวชาญค่อยๆ วาดภาพขึ้นมาทีละภาพ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ แต่ลำดับการทำงานก็ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือจะต้องมีคนที่วาดภาพที่เรียกว่า Key Frame หรือการเคลื่อนไหวหลัก จากนั้นก็ส่งต่อให้ทีมงานไปวาดภาพช่วงระหว่าง Key Frame สองภาพ หรือที่เรียกว่า In-Betweens
Storyboard เป็นสิ่งที่เป็นหัวใจของภาพยนตร์ของมิยาซากิ ผลงานจากจินตนาการของมิยาซากิทั้งหมด ได้รวมอยู่ใน Storyboard เหล่านี้ เหล่าทีมงานของมิยาซากิจะเข้าประชุมเพื่อศึกษา storyboard มีการปรึกษาหารือกันถึงภาพการเคลื่อนไหว ว่าจะออกมาเป็นเช่นไร อย่างเช่นการเคลื่อนไหวของมังกร เวลาตกลงมาที่พื้น หรือลักษณะของปากและฟันที่เมื่อมีคนง้างปากออก ลักษณะของเหงือกและฟันจะเป็นอย่างไร ทุกคนต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อให้งานสำเร็จออกมาตามแผนเวลาที่วางเอาไว้
เมื่องานภาพเคลื่อนไหวเสร็จสิ้นลง ก็มาถึงการใส่เสียง ให้ตัวละคร // ข้างใต้ของ Ghibli Studio 2 เป็น Screening room แต่ด้วยเรื่อง 千と千尋の神隠しทำให้ห้องดังกล่าว ถูกแปลงเป็นห้องอัดเสียง เพื่อให้มิยาซากิสามารถไปมาระหว่างการให้เสียงตัวละคร และงานภาพเคลื่อนไหวได้ไปพร้อมๆ กัน แต่ที่นี่ต่างจากห้องอัดเสียงอื่นตรงที่ไม่มีกระจกป้องกันเสียงระหว่างคนที่ทำหน้าที่พากย์และทีมงาน
ดังนั้นความเงียบจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะว่าไม่มีอะไรกั้นเสียงทั้งสิ้น เสียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในห้องนี้ก็จะถูกบันทึกลงไปด้วย แม้แต่มิยาซากิที่ทำงานด้านนี้มากว่า 20 ปี ก็ยังไม่เคยพบการอัดเสียงแบบนี้มาก่อน มิยาซากิกล่าวว่า “พออยู่ห้องนี้ ทำให้ผมหายใจ ได้ไม่ทั่วท้องเลย มันไม่เหมือนกับห้องอัดเสียงธรรมดาที่อื่น มันแตกต่างกันจริงๆ ผมรู้สึกกังวลกับทุกอย่างที่อาจทำให้เกิดเสียง แม้แต่เสียงท้องร้องของผมเอง”
เด็กผู้หญิงที่มารับบทให้เสียงของชิฮิโระคือ 柊瑠美 (ฮิอิราจิ รูมิ) ผู้เคยฝากผลงานไว้ในละครดรามาของ NHK เรื่อง すずらん~少女・萌の物語~ (ซูซุรัน) ขณะเธอมีอายุได้ 13 ปี
夏木マリ (นัตซิกิ มาริ) ให้เสียงเป็นแม่มดที่โลภมาก ใจร้ายและปากร้ายอีกด้วย แต่เธอก็มีด้านที่อ่อนหวานเมื่อต้องรับมือกับลูกชายของเธอ ยูมิให้เสียง พร้อมท่าทางได้ดีมาก ทำให้ตัวละครยูบาบะมีเสน่ห์ราวกับมีชีวิตจริงๆ
ชูจิ อิโนอูเอะ ทำหน้าที่เป็น Sound Engineer ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาและทีมงานของ Studio Ghibli ได้เดินทางมาที่น้ำพุร้อนคุซัตซุ เพื่อมาอัดเสียงจริงที่จะใช้ประกอบในภาพยนตร์ // งานอนิเมะไม่ได้ประกอบไปด้วยเสียงของตัวละครเท่านั้น แต่ยังมี sound effects ที่เป็น ส่วนสำคัญมากอยู่อีก ตัวภาพยนตร์ดำเนินเรื่องเกี่ยวกับโรงอาบน้ำ เสียงของน้ำจึงเป็นสำคัญในเรื่อง พวกเขาก็ได้พบเสียงที่จะมาใช้ที่ 温泉 (ออนเซ็น) แห่งนี้นี่เอง โดยปกติ อิโนอุเอะซัง จะทำการ mix เสียงอยู่ที่ studio แต่เนื่องจากทีมงาน sound effects ต้องทำงานอยู่ที่ studio ตลอด เพราะว่าเกิดความล่าช้าในการผลิต ดังนั้นอิโนอุเอะซังกับทีมงานอีกสองสามคน จึงต้องออกเดินทางเพื่อไปเก็บเสียงที่จำเป็นต้องใช้ด้วยตัวเอง พวกเขาไม่ได้ต้องการเพียงแต่บันทึกเสียงน้ำไหลเท่านั้น แต่เป็นเสียงทั้งหมดที่เรามักได้ยินในโรงอาบน้ำ เช่น เสียงถูกพื้น เสียงเดิน เสียงถังไม้กระทบกัน เสียงราดน้ำ เสียงน้ำกระฉอก และอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้เสียงประกอบ เช่นทางเดิน เสียงคนพูด ผ่านฉากกั้นเสียงต่างๆ ในครัว ไม่ว่าจะเป็น การผัด ต้ม เสียงน้ำมัน เสียงสับ การผ่า ทีมงานต้องไปอัดเสียงถึงในครัวของร้านอาหารขณะมีการทำอาหารจริงๆ แม้แต่เสียงรถยนต์ ที่พ่อของชิฮิโระขับ ทีมงานก็ต้องการให้ได้เสียงที่สมจริงที่สุด จึงเช่ารถยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน กับในภาพยนตร์มาเพื่อบันทึกเสียง ขณะวิ่งอยู่บนถนน ที่ขรุขระ ตามลักษณะในท้องเรื่อง ขณะเดียวกันทาง Studio ที่โตเกียวก็ทำการบันทึกเสียงรายละเอียดเล็กน้อยต่างๆ เช่นเสียงเดิน เสียงวิ่งลงบันได เสียงย่ำเท้าในน้ำ เสียงรองเท้าที่ต่างกันขณะกำลังเดินบนพื้นที่เหมือนกัน เพื่อสร้างเสียงของการเดินในหลายรูปแบบ โดยใช้ทั้งรองเท้าที่ไม่เข้ากัน หรือ รูปแบบการเดินที่ต่างกัน
Studio ghibli ได้เช่า Sumida Triphony Hall ที่โตเกียว เพื่อทำการบันทึกเสียงดนตรี Orchestra เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์ 千と千尋の神隠しเรื่องนี้ ส่วนผู้ประพันธ์บทเพลง ก็เป็นใครไปไม่ได้ นอกจากสุดยอดหนึ่งเดียวคนนี้ 久石譲 (ฮิซาอิชิ โจ) ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงทั้งหมดในผลงานของมิยาซากิ ตั้งแต่ 風の谷のナウシカ (คาเซะ โนะ ทานิ โนะ นาอูชิกา / Nausicaä of the Valley of the Wind) ในครั้งนี้ก็ได้ New Japan Philharmonic มาร่วมบรรเลงท่วงทำนองที่แสนไพเราะ บันทึกเสียงผ่านไมโครโฟนมากถึง 60 ตัว เพื่อให้ได้เสียงที่สมบูรณ์แบบที่สุด
เวลาล่วงมาถึงเดือนมิถุนายน หนึ่งเดือนก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉาย การบันทึกเสียงตัวละครก็ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว 入野自由 (อิริโนะ มิยุ) ผู้ให้เสียงเป็น ฮากุ เด็กหนุ่มลึกลับ ที่คอยช่วยเหลือ ชิฮิโระ ก็ได้มาร่วมให้เสียงกับ รูมิซัง ในวันสุดท้าย ของการบันทึกเสียง ตัวละคร ก่อนเสียงทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกันที่ Studio
เพลง Theme ของเรื่องนี้ แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Always with Me เพลงนี้สร้างความประทับใจให้มิยาซากิอย่างมาก จนมีคนกล่าวว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างขึ้นเนื่องจากเพลงนี้เลยทีเดียว ขณะที่มิยาซากิทำงาน เขามักจะเปิดเพลงนี้ระหว่างทำงานเสมอ เพลงนี้เขียนขึ้น และเล่นโดย คิมูระ ยูมิ (木村弓) เธอเป็นศิลปินที่เล่นเครื่องดนตรี ประเภทพิณชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า Lyre
ยูมิซังเล่าว่า เธอได้ชมภาพยนตร์เรื่อง もののけ姫 (โมโนโนเกะ ฮิเมะ / Princess Mononoke) หลังจากนั้น เธอก็รู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์ด้วยเสียงเพลงของเธอ ยูมิซังได้เขียนจดหมายพรรณนาถึงความรู้สึกของเธอ และส่งไปให้มิยาซากิ มิยาซากิได้ตอบรับจดหมายของเธอ พร้อมทั้งได้บอกถึงโครงเรื่องของภาพยนตร์เรื่องต่อไปของเขาอีกด้วย
ยูมิซังได้พบเมโลดี้ที่เธอคิดว่ามันน่าสนใจ แต่ว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับภาพยนตร์เรื่องใหม่ของมิยาซากิเท่าไหร่ แต่เธอก็คาดว่ามิยาซากิอาจจะชอบเพลงนี้ก็ได้ เธอจึงส่งมันไปให้มิยาซากิ ซึ่งก็คือเพลง いつも何度でも (อิซึโมะ นันโดเดโหมะ) ในช่วงเวลานั้นมิยาซากิกำลังทำโครงการเรื่องอื่นอยู่ มิยาซากิจึงเขียนจดหมายตอบว่า เขาชอบเพลงนั้นมากแต่โครงการที่เขาทำอยู่ ตอนนั้นซึ่งก็คือ Rin, The Chimney Cleaner ได้ล้มเลิกไปแล้ว อย่างไรก็ตามยูมิซัง ก็บอกว่า เธอค่อนข้างผิดหวังเล็กน้อย แต่ก็รู้สึกดีใจมากที่มิยาซากิชอบเพลงของเธอ หลังจากนั้นทั้งสองคนก็ขาดการติดต่อกับไปพักใหญ่ ขณะนั้นมิยาซากิก็ได้เริ่มทำโครงการใหม่ ซึ่งก็คือ 千と千尋の神隠し และวันหนึ่งมิยาซากิก็ได้ฟังเทปที่ยูมิซังส่งมาให้อีกครั้ง เขาก็ได้รู้ว่างานที่เขากำลังทำอยู่ มี Theme เหมือนกับเพลงนี้เลยทีเดียว
เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะลืมไปว่าความเป็นเด็กเป็นเช่นไร นั่นก็อาจจะเป็นความหมายที่ต้องการสื่อออกมาจากช่วงหนึ่งของเพลงนี้นั่นเอง มิยาซากิจึงเลือกที่จะใช้เพลงนี้ เป็นเพลงจบในภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่สุด
BEHIND THE SCENE
千と千尋の神隠し (เซ็นโตะชิฮิโระโนะคามิคาคุชิ) เป็นภาพยนตร์อนิเมะที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในญี่ปุ่นอย่างไม่มีเรื่องไหนเทียบได้ ภาพยนตร์เรื่องนี้กวาดรางวัลมากมายจากทั่วโลก จินตนาการที่ บรรจุอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสร้างความประทับใจให้กับทุกทุกคนที่ได้ชม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความมหัศจรรย์นี้ก็คือ ฮายาโอะ มิยาซากิ ผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใคร และได้รับการยอมรับจากผู้สร้างแอนิเมชันทั่วโลก มิยาซากิเป็นหนึ่งในผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน 千と千尋の神隠し เป็นเหมือนผลงานที่มาจากจินตนาการที่มากล้นของมิยาซากิ
千と千尋の神隠し เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ติดอยู่ในโลกปริศนา เธอต้องค้นหาความแข็งแกร่งภายในจิตใจ เพื่อมีชีวิตรอดต่อไป และเธอก็ได้พบหนทางเดียวที่จะเธอมีชีวิตรอดอยู่ในโลกนี้ ก็คือ ต้องทำงานที่โรงอาบน้ำ สถานที่ที่คอยช่วยฟื้นฟูวิญญาณต่างๆ ภายในโรงอาบน้ำผู้ชมก็จะได้เห็น วิญญาณต่างๆ มากมาย ที่ล้วนมาจากจินตนาการของมิยาซากิ
ตัวละครหลักชิฮิโระ ได้รับแรงบันดาลใจ มาจากลูกสาวของเพื่อนคนหนึ่งของมิยาซากิ โดยมิยาซากิได้กล่าวถึงตัวละครนี้ ไว้ว่า “ชิฮิโระ ดูจะเป็นเด็กที่มีลักษณะเนือยๆ ซึ่งก็เหมือนกับลูกสาวของเพื่อนของผมอย่างมาก”
ผู้ชมส่วนใหญ่คิดว่าตัวละครต่างๆ อย่างเช่น วิญญาณโคลนที่เน่าเหม็น (ซึ่งในตอนหลัง เราจะทราบว่า แท้จริงก็คือ วิญญาณแห่งแม่น้ำ ที่บาดเจ็บจากมลภาวะ) ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกนำมาจากตำนานเก่า ของญี่ปุ่น แต่ในความจริงแล้ว ตัวละครหลายตัว มิยาซากิ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริง โดยมิยาซากิก็ได้กล่าวถึง ตัวละครตัวนี้ว่า “ผมเคยช่วยทำความสะอาดแม่น้ำอยู่ครั้งหนึ่ง และมันก็มีจักรยานอยู่ในแม่น้ำจริงๆ มันจมอยู่ใต้โคลนตม ใต้แม่น้ำ พวกเรามีอยู่ด้วยกันสิบคน ต้องช่วยกันลากดึง คันจับของรถจักรยานขึ้นมาอย่างช้าๆ เมื่อเราทำความสะอาดแม่น้ำ จนเรียบร้อย พวกปลาก็กลับมาใช้แม่น้ำเป็นที่อยู่อีกครั้ง และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ผมใส่ฉากนั้นเข้าไปในเรื่อง”
หรือ แม้แต่ตัวละครอย่าง かおなし (คาโอนาชิ / No Face มาจาก 顔 ~คาโอ ที่มีความหมายว่า ใบหน้า รวมกับ 無し ~นาชิ ที่มีความหายว่า ปราศจาก) ที่ใช้ความโลภของผู้คนเพื่อเข้าไปอยู่ในจิตใจ ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลกจริง ทุกคนจะสังเกตได้ว่าตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่อง จะมีส่วนประกอบของความคิดทางด้านบวกของมิยาซากิ จะมีก็แต่ かおなし ที่มีพลังงานทางด้านลบ และใช้ความพยายามทุกวิถีทาง เพื่อจะเข้าไปอยู่ในจิตใจของผู้อื่น
มิยาซากิ ได้สร้างโลกที่เต็มไปด้วยภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจ และเสียงที่เข้ากันอย่างลงตัวกับเนื้อเรื่อง โลกที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันทั่วโลก ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แอนิเมชัน ประกอบด้วย บุคคลากรหลายส่วน อาทิ นักประพันธ์บทที่ทำหน้าที่เขียนบท มีผู้กำกับที่ทำหน้าที่กำกับ มีช่างศิลป์ที่ทำหน้าที่วาดภาพ แต่มิยาซากิสามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเขาเองเพียงคนเดียว ตั้งแต่เขียนบท กำกับไปจนถึงการวาดภาพ ทุกอย่างสร้างสรรค์ขึ้นมาจากจินตนาการอันลึกล้ำของมิยาซากิ เขาวาดภาพร่างแบบของภาพยนตร์อนิเมะ (storyboard) ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเพียงคนเดียว แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมด เขายังเป็นผู้เขียนเนื้อร้องของเพลงประกอบอีกด้วย
นอกจากวิสัยทัศน์ที่โดดเด่นของมิยาซากิแล้ว มิยาซากิยังเอาใจใส่กับความจริง และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ซึ่งหลายอย่างมันเป็นส่วนที่เล็กน้อยและธรรมดาจนเรามองข้ามไป แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่พ้นสายตาของมิยาซากิ เขาได้นำสิ่งเหล่านั้น มาใส่ไว้ในตัวละครของเขา และมันก็สิ่งที่สร้างเสน่ห์ให้กับตัวละครของมิยาซากิได้อย่างน่าอัศจรรย์ อย่างเช่นฉากหนึ่ง ที่เราจะเห็นภาพของ ชิฮิโระสอดเท้าของเธอเข้าไปในรองเท้า ซึ่งก็เป็นฉากธรรมดาๆ ที่ผู้สร้างแอนิเมชันก็สามารถวาดภาพ ให้เธอใส่รองเท้าแล้วก็วิ่งออกไปเลยก็ได้ แต่มิยาซากิได้สังเกตถึงโลกของความจริงว่า เด็กผู้หญิงจริงๆ เวลาเขาใส่รองเท้า เขาทำกันอย่างไร เด็กผู้หญิงจะต้องแน่ใจว่าเธอใส่รองเท้าได้อย่างถูกต้อง ก่อนจะออกเดิน ในฉากนี้มิยาซากิ ก็ได้ใส่รายละเอียด ให้ชิฮิโระเคาะปลายรองเท้าลงกับพื้น เพื่อให้มั่นใจว่าใส่รองเท้าได้แน่นหนา และจะไม่หลุดเวลาที่เธอเดินหรือวิ่ง และมันก็เป็นเหมือนสิ่งที่ย้ำเตือนและสร้างความรู้สึกว่า นี่มันไม่ใช่โลกในจินตนาการ แต่มันคือโลกที่มีอยู่จริงๆ
หรือในฉากที่ ชิฮิโระ เดินตามฮากุเพื่อข้ามสะพานไปที่โรงอาบน้ำ ชิฮิโระจะต้องกลั้นลมหายใจเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ว่าเป็นมนุษย์ที่แอบเข้ามา เราจะเห็นภาพชิฮิโระเอามือบีบจมูกเอาไว้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เด็กจริงๆ ทำกัน เมื่อได้รู้ว่าชีวิตของเขาขึ้นอยู่กับว่าจะกลั้นลมหายใจได้ตลอดหรือไม่ กล่าวได้ว่ามิยาซากิมีความสามารถที่จะเข้าใจถึงความคิดและจิตใจของเด็กอย่างแท้จริง
ผลงานที่ผ่านมาของมิยาซากิทั้งหมด จะต้องมีฉากบิน บนท้องฟ้าอย่างน้อยหนึ่งฉากในภาพยนตร์อนิเมะของเขา มันเป็นช่วงเวล ที่เหมือนมีเวทมนตร์ พาผู้ชมลอยขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง แม้แต่ทีมงานการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันที่โด่งดังของ Disney ซึ่งฝากผลงานไว้ใน Fantasia 2000 ก็ยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในฉากบินบนท้องฟ้าของ มิยาซากิ
ฉากปลาวาฬบินข้ามทะเลขึ้นไปบนท้องฟ้า ที่เห็นกันใน Fantasia 2000 นั้น ก็เป็นสิ่งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการชมภาพยนตร์ อนิเมะของมิยาซากิ เรื่อง 魔女の宅急便 (มาโจ โนะ ทักคิวยุบิน / Kiki’s Delivery Service) // John Lasseter กล่าวว่า “มันจะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งในการทำงานของเราที่เราทำงานอย่างหนัก แต่แล้วกลับมาถึงทางตัน คือคิดอะไรไม่ออก สับสน งุนงง เกิดความเครียด เราก็จะหยิบงานของมิยาซากิขึ้นมาเรื่องหนึ่ง และก็ฉายดูบนจอใหญ่ๆ งานของมิยาซากิช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเรา”
Disney ไม่ได้เป็นเจ้าแรกในวงการแอนิเมชันที่พยายามนำเอาผลงานของมิยาซากิมานำเสนอในอเมริกา มันเป็นช่วงเวลากว่า 20 ปีมาแล้วที่บริษัทหลายเจ้าสนใจ และพยายามนำผลงานของมิยาซากิเข้ามาในอเมริกา แต่ทั้งหมดก็ไม่ประสบความสำเร็จ Studio Ghibli ได้ตอบปฏิเสธ ข้อเสนอของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมด จนในที่สุด Disney ก็ได้ก้าวเข้ามา ด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจอย่างมาก โดย Disney ต้องการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ทั้งหมด ของ Studio Ghibli และ Disney ตกลง ที่จะไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาใดๆ หรือตัดส่วนใด ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์แม้แต่น้อย ข้อเสนอนี้ต่างจากข้อเสนอที่ Studio Ghibli เคยได้รับมาทั้งหมด ทาง Studio Ghibli จึงตัดสินใจร่วมงานกับ Disney ในที่สุด
ภายใต้การบริการงานของ John Lasseter ได้นำทีมระดับแนวหน้า เข้ามารับงานการพากย์เสียงและตีความของ 千と千尋の神隠し โดยเขาต้องการนำเอาวิสัยทัศน์ของมิยาซากิ มานำเสนอต่อ มหาชนชาวอเมริกัน โดยไม่มีการดัดแปลงแม้แต่น้อย พวกเหล่าทีมงานรวมทั้งผู้แปลและเขียนบทภาษาอังกฤษ จะทำงานโดยการมานั่งรวมกันในห้องที่จะฉายภาพยนตร์ไปทีละฉาก มีการคิดค้นหาคำพูดที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความลงตัวและเป็นธรรมชาติมากที่สุด มีการปรับเปลี่ยน บทพูด หลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้เข้ากับปากของตัวละคร ในบางครั้งบทพูดถูกเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนมันฟังดูไม่เป็นธรรมชาติอีกต่อไป และอีกหลายครั้งที่ทางทีมงาน Disney ต้องส่งบทพูดไปทาง email เพื่อปรับเปลี่ยนบทพูดกับทาง Studio Ghibli ที่ที่ญี่ปุ่น เมื่อต้องการการตีความที่ถูกต้องเหมือนกันทุกประการ
อย่างเช่นฉากระหว่าง ชิฮิโระกับคามาจิ ซึ่งเป็นฉากที่แสดงถึงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่า คนอเมริกันหรือคนชาติอื่น ย่อมจะไม่เข้าใจถึงความหมายที่มิยาซากิต้องการสื่อออกมา ทีมงานผู้เขียนบทภาษาอังกฤษต่างรู้สึกว่า มันน่าสนใจมากแต่ก็ไม่รู้ว่านั่นคืออะไร และทำไปเพื่อสื่อความหมายอะไร เมื่อคุยกับทีมงานญี่ปุ่น จึงได้รู้ว่ามันเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า エンガチョ (เอ็นงาโช) จะทำเมื่อคนหนึ่งเจออะไรที่ไม่ดีหรือเรื่องร้ายๆ ให้นำนิ้วโป้ง และนิ้วชี้ของมือแต่ละด้านมาแตะกันเป็นวง จากนั้นอีกคนก็จะใช้มือฟันให้ผ่านตรงกลางของนิ้ว ที่แตะกันจนขาดออกก็จะปลอดภัยจากเรื่องร้าย (แต่ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น ก็ไม่ค่อยจะทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว)
หรือความหมายของตราผนึกสีทอง ในการต้นฉบับของญี่ปุ่น จะไม่มีคำว่า สีทอง (Golden) จะใช้แค่เพียงคำว่า Seal ซึ่งหมายถึง ตราประทับ แต่คำนี้อาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ชมอเมริกัน เนื่องจากคำนี้ไปพ้องความหมายกับคำว่า แมวน้ำ (Seal) และในฉากนี้ก็มีตัวหนอนสีดำเคลื่อนตัวไปมา ดูคล้ายแมวน้ำขนาดเล็ก ทางทีมงานเกรงว่า ถ้าใช้คำว่า Seal คำเดียว อาจทำให้ผู้ชมคิดว่าหมายถึงตัวหนอนสีดำ เมื่อแปลบทพูดภาษาอังกฤษ จึงมีการใส่คำว่า Golden ลงไป เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าหมายถึงตราประทับสีทอง (ในประเทศญี่ปุ่น มีการใช้ตราประทับอยู่แพร่หลาย ทุกคนจะมีตราประทับของตัวเอง เพื่อใช้แทนการเซ็นลายเซ็น)
เมื่อทีมงานเคลียร์บทพูดเรียบร้อย ก็จะเป็นหน้าที่ของนักพากย์ฝีปากฉมัง ที่จะมาใส่อารมณ์และชีวิตให้กับตัวละครในภาคภาษาอังกฤษเรื่องนี้ การทำงานก็จะต่างกันเล็กน้อย ในด้านการพากย์ของ Disney เพราะเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์แบบแล้ว นักพากย์จึงจะต้องพากย์เสียงให้ตรงกับระยะเวลาที่ปากของตัวละครเคลื่อนไหว ต่างจากการพากย์ภาพยนตร์แอนิเมชันของ Disney ที่นักพากย์ จะมาพากย์เสียงก่อน หรือ ขณะที่อยู่ในระหว่างการสร้าง แล้วทีมงานจึงจะไปวาดปากของตัวละคร ให้ตรงกับการออกเสียงของนักพากย์ในภายหลัง
เด็กที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต่างก็ชอบกัน เพราะพวกเขารักตัวละคร ส่วนพวกแม่ของเด็ก ต่างชอบมัน เพราะว่ามันสนุกสนาน และยังสอนสิ่งดีๆ ให้กับเด็ก
BEHIND THE MICROPHONE
เป็นเบื้องหลัง การพากย์เสียงภาษาอังกฤษ และสัมภาษณ์เล็กน้อยของทีมนักพากย์ นักพากย์จะพากย์บทขณะที่รับชมภาพที่ฉายบนจอโทรทัศน์ เพื่อให้เห็นสีหน้า อารมณ์และการเคลื่อนไหว ของตัวละครที่เขากำลังพากย์อยู่
Jason Marsden ผู้ให้เสียง ハク (ฮากุ) ได้กล่าวถึงการพากย์นี้ว่า “สิ่งที่ยากที่สุด สำหรับผมในการทำงานนี้ก็คือการให้เสียงให้ตรงกับช่วงเวลาที่กำหนด ในบางครั้งบางประโยค ผมต้องการที่จะหยุดหายใจและก็เริ่มพูดต่อ แต่ผมก็ทำไม่ได้เพราะไม่มีเวลาให้ทำ เนื่องจากปากของตัวละครยังขยับอยู่ แต่ผมคิดว่าทาง Studio Ghibli เขาคงจะไม่วาดแก้ปากตัวละครใหม่เพื่อให้ผมได้หยุดหายใจ”
เด็กหญิงผู้ให้เสียง ชิฮิโระ ที่เคยฝากผลงาน เสียงน่ารักของเธอในบท ลิโล่ จาก Lilo & Stitch เธอเป็นนักพากย์นักแสดง ที่มีความสามารถมาก และเรียกได้ว่าเธอพากย์ด้วยสัญชาตญาณ ก็ว่าได้ ได้กล่าวถึงความประทับใจว่า “ผู้กำกับ มิยาซากิ เป็นคนที่เก่งมาก โลกที่เขาสร้างขึ้นมา มันน่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ”
ผู้ให้เสียง ยูบาบะ ได้กล่าวถึง การพากย์เสียงตัวละครยูบาบะ ในแบบของเธอว่า “ฉันได้ตัดสินใจในการให้เสียงไว้ก่อนที่ฉันจะได้ฟังบททั้งหมด และฉันก็ได้เลือกที่จะให้เสียงที่ตรงกันข้ามกับการให้เสียงของทางญี่ปุ่น ยูบาบะคนหนึ่งจะมีเสียงที่เบากว่า ส่วนอีกคนจะให้เสียงที่หนักแน่นกว่า แต่ในแบบของฉัน มันจะเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกัน”
ผู้ให้เสียงของ ลิน สาวน้อยที่คอยให้ความช่วยเหลือชิฮิโระ ผู้เคยฝากผลงานมาแล้วจากเรื่อง Hercules ได้กล่าวว่า “ตอนที่ฉันทำงาน ในเรื่อง Hercules มันไม่มีภาพงานที่สำเร็จเรียบร้อยให้ฉันดู มันมีเพียงแต่ภาพร่างเท่านั้น และพวกเขาก็จะให้ฉันดูภาพของตัวละครที่ต้องพากย์ จากนั้นก็เป็นจินตนาการล้วนๆ แต่การพากย์ในเรื่อง Spirited Away นี้มันต่างกัน ฉันได้รับแรงบันดาลใจจากภาพที่ได้เห็นอย่างมาก ซึ่งมันสวยและเยี่ยมมากๆ เลย”
AWARDS
- Best Animated Feature Film; 75th Annual Academy Awards
- Best Film; 2001 Japanese Academy Awards
- Golden Bear (tied); 2002 Berlin International Film Festival
- Best Animated Feature; 2002 New York Film Critics Circle Awards
- Special Commendation for Achievement in Animation; 2002 Boston Society of Film Critics Awards
- Best Animated Feature; 2002 Los Angeles Film Critics Awards
- Outstanding Achievement in an Animated Feature Production; 2002 Annie Awards
- Best Directing in an Animated Feature Production; 2002 Annie Awards
- Best Writing in an Animated Feature Production; 2002 Annie Awards
- Best Music in an Animated Feature Production; 2002 Annie Awards
- Best Animated Feature; 2002 Critics’ Choice Awards
- Best Animated Feature; 2002 New York Film Critics Online Award
- Best Animated Feature; 2002 Florida Film Critics Circle
- Best Animated Feature; 2002 National Board of Review
- Best Original Score in the Category of Comedy or Musical; 78th Annual Glaubber Awards
- Motion Picture, Animated or Mixed Media; 7th Annual Golden Satellite Awards
- Audience Award for Best Narrative Feature; 45th San Francisco International Film Festival
- Special Mention from the Jury; 2002 Sitges Film Festival
- Best Asian Film; 2002 Hong Kong Film Awards
- Best Animated Film; 29th Annual Saturn Awards
- Best Film (tied); Cinekid 2002 International Children’s Film Festival
- Best Animated Feature; Online Film Critic Society
- Best Animated Feature; Dallas-Forth Worth Critics
- Best Animated Film; Phoenix Film Critics Society
- Silver Scream Award; 19th Amsterdam Fantastic Film Festival
- Best Family/Animation Trailer; Fourth Annual Golden Trailer Awards
- Brilliant Dreams Award 2003; Bulgari
- Award Winner, Film; 2003 Christopher Awards
- Award Winner, Most Spiritually Literate Films of 2002; Spirituality & Health Awards
- Best Movie for Grownups who Refuse to Grow Up, Best Movies for Grownups Awards; AARP The Magazine
千と千尋の神隠し วางจำหน่ายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในรูปแบบวิดีโอเทป VHS / DVD วันที่ 19 กรกฎาคม 2002 และในรูปแบบ Blu-ray วันที่ 16 กรกฎาคม 2014
ส่วนในสหรัฐอเมริกาได้มีการวางจำหน่ายในรูปแบบ DVD คร้งแรกวันที่ 15 เมษายน 2003 และในรูปแบบ Blu-ray วันที่ 16 มิถุนายน 2015