I Am Mother
2019 | Grant Sputore
ภาพยนตร์เริ่มต้นเรื่องด้วยการบอกว่านี่คือเหตุการณ์วันที่ 1 หลังจากมนุษยชาติสูญพันธุ์โดยที่ไม่บอกสาเหตุ — เครื่องจักรสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาหนึ่งตัว และเมื่อหุ่นยนตร์เริ่มทำงานมันก็ไปเลือกเอาตัวอ่อนของมนุษย์ที่ถูกเก็บไว้ ออกมาเพื่อเข้าเครื่องเพาะให้กลายเป็นเด็กทารก
หุ่นยนต์ทำหน้าที่เหมือนเป็นแม่ที่เลี้ยงดูเด็กทารก คอยเล่น สอน ให้การศึกษาเลี้ยงดูเด็กผู้หญิง (Tahlia Sturzaker) จนโตขึ้นมา และเริ่มมีความสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีเด็กคนอื่นอยู่เลย หุ่นยนต์จึงบอกว่าเคยมีเด็กๆ ก่อนสงคราม (ที่น่าจะเป็นเป็นเหตุให้มนุษย์สูญพันธุ์ไป) และที่นี่ก็เป็นที่มนุษย์ได้สร้างไว้เผื่อในกรณีที่มนุษย์เกิดสูญพันธุ์ไปจริงๆ
การเล่าเรื่องกระโดดข้ามเวลาไป 13,867 วัน ซึ่งในตอนนี้เองผู้ชมที่สังเกตก็จะรู้เวลากระโดดข้ามไปถึงเกือบ 38 ปี
ภาพตัดมาที่เรื่องของเด็กสาว (Clara Rugaard) ซึ่งดูผิวเผินก็น่าจะเป็นคนเดียวกับเด็กผู้หญิงในช่วงแรก แต่ด้วยเวลาที่ผ่านมาแล้ว 38 ปี ทำให้เรารู้ได้ว่านี่ไม่ใช่เด็กผู้หญิงคนเดิม — เด็กสาวจับหนูได้ ทั้งที่หุ่นยนต์เคยบอกว่าอากาศภายนอกเป็นพิษและไม่มีสิ่งมีชีวิตหลงเหลืออยู่แล้ว ทำให้เด็กสาวเริ่มสงสัยว่าความจริงคืออะไรกันแน่
จนกระทั่งวันหนึ่งมีผู้หญิง (Hilary Swank) ซึ่งถูกยิงบาดเจ็บเข้ามาขอความช่วยเหลือ เธอแอบเล่าเรื่องให้เด็กสาวฟังว่า หุ่นยนต์ที่อยู่ด้านนอกยิงกระสุนใส่เธอ และหุ่นยนต์ฆ่ามนุษย์ทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่เด็กทารก — เด็กสาวเริ่มลังเลว่าผู้หญิงแปลกหน้าคนนี้พูดจริง หรือว่ากำลังโกหกเพื่อจุดประสงค์อะไรบางอย่าง
I Am Mother เป็นภาพยนตร์ไซไฟที่สนุกอย่างไม่น่าเชื่อ กับบทที่เขียนถึง A.I. กับ dilemma ของการเลือกที่จะรักษาเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้วปล่อยให้ทำลายตัวเองไปตามกฏของธรรมชาติ หรือเลือกที่จะทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมดเพื่อสร้างรากฐานขึ้นมาใหม่
ชอบการหักมุมของเรื่อง ทั้งการออกแบบหุ่นยนต์และฉาก, คนที่ให้เสียง Mother (Rose Byrne), การเดินเรื่องของผู้กำกับ Grant Sputore และบทที่ยอดเยี่ยมฝีมือ Michael Lloyd Green, รวมถึงการแสดงของทั้ง Hilary Swank และ Clara Rugaard ก็ดีมากด้วย
I Am Mother สามารถชมได้ผ่าน Netflix ในหลายประเทศ อาทิ US, UK, FR, SG, JP, KR, etc — แต่ยังไม่มีในประเทศไทย